HomeBT Newsรายงานพิเศษ: จะรอดกันมั้ย? มหาวิทยาลัยไทย

รายงานพิเศษ: จะรอดกันมั้ย? มหาวิทยาลัยไทย

มหาวิทยาลัยบางแห่งเผยว่า มีผู้สมัครเข้าเรียนแค่ 7 คน

อาชีพที่พ่อแม่ทำอยู่ในปัจจุบัน อาจจะไม่เหลืออีกแล้วในอนาคต ถ้าเป็นไปตามผลวิจัยของ “World Economic Forum”

“The Future of Jobs Report 2018” อาจทำให้ให้ความฝันของหนูน้อยวัยประถมที่คิดว่าโตขึ้นอยากจะเป็นอะไรต้องพังทลายลง เพราะโลกแห่งความจริงพบว่า ร้อยละ 65 ของเด็กที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมในตอนนี้จะเผชิญกับอาชีพใหม่ๆ ที่ในปัจจุบันนี้ ยังไม่มี

นั่นเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งลุกขึ้นมาเร่งเดินหน้าปรับตัวรับมือกับ Distruption ครั้งนี้ หลายแห่งกำลังคิดค้นหลักสูตรที่เน้นสอนทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิต และการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 อย่างขะมักเขม้นเพื่อให้มั่นใจว่า นักศึกษาจะสามารถเผชิญและแก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุดในการเป็นพลเมืองแห่งโลกอนาคต

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยไทยต้องเผชิญวิกฤติร่วมกัน นั่นคือ จำนวนเด็กเกิดน้อยลง ส่งผลให้จำนวนผู้เรียนเข้าสู่ระดับอุดมศึกษาลดลงอย่างรุนแรง  ตัวเลขของมหาวิทยาลัยบางแห่งเผยว่า มีผู้สมัครเข้าเรียนแค่ 7 คนในปีที่แล้ว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยจำนวน 3 ใน 4 จะไปไม่รอด ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับที่เกิดขึ้นในอเมริกาในตอนนี้

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รายงานข่าวเผยว่า มหาวิทยาลัยในอเมริกาได้ปิดตัวไปแล้วกว่า 500 แห่ง จากทั้งหมดกว่า 4,500 แห่ง และภายใน 10 ปีข้างหน้า จะปิดตัวลงอีกไม่น้อยกว่า 2,000 แห่ง สืบเนื่องมาจากความนิยมศึกษาออนไลน์ และนักเรียนมัธยมมีจำนวนลดลง

นอกจากนี้ เด็กจำนวนหนึ่งไม่ให้ความสำคัญกับใบปริญญาอีกต่อไป แต่หันไปประกอบอาชีพที่ทำเงินได้รวดเร็ว เป็นอิสระ ไม่ว่าจะเป็นขายของออนไลน์ เป็น YouTuber หรือวิ่งเข้าสู่ วงการสตาร์ทอัพ เพราะคิดว่า ความรู้สามารถหาได้ง่ายๆ จากการกดโทรศัพท์มือถือ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ มานา ปัจฉิมนันท์ รองอธิการบดีฝ่ายสื่อสารการตลาดและวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวกับ “Business Today” ว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าได้ปรับตัวเพื่อรับมือกับการถูก Disrupted มา 7-8 ปีแล้ว ล่าสุดกำลังจะมีความร่วมมือด้าน Design Thinking กับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกเพื่อทำหลักสูตรที่นำกระบวนเสริมสร้างความคิดเชิงสร้างสรรค์มาใช้ในการทำงาน และคิดค้นนวัตกรรมทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะอยู่รอดในยุคที่ธุรกิจถูกดิสรัปชั่น

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผศ. มานากล่าวว่า จากเดิมที่หลักสูตรเน้นทักษะด้านความรู้ (Hard Skills) ก็จะเพิ่มทักษะด้านอารมณ์ (Soft Skills) หรือความคิดสร้างสรรค์และทักษะในการตัดสินใจเพราะสามารถใช้กับการทำงานได้ทุกอาชีพ“หลักสูตรที่เรากำลังทำจะช่วยให้เด็กมีมุมมองและความคิดต่อสิ่งรอบๆ ตัว รู้จักคิดหรือคิดเป็น และมีเป้าหมายในชีวิต ไม่เลื่อนลอย เรากำลังสร้างคนที่จบออกไปแล้วสามารถทำงานได้จริงๆ” เขากล่าว

ถ้าเทียบจำนวนนักศึกษาย้อนหลังไป 10 ปี ม.หอการค้าไทยพบว่าลดลงราวร้อยละ 30 แต่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาจำนวนนักศึกษาไม่ได้ลดลง โดยเปิดหลักสูตรใหม่ๆ มาชดเชยรายได้ในส่วนของนักศึกษาที่หายไป เช่น หลักสูตรสำหรับผู้บริหารและคอร์สออนไลน์ระยะสั้น

ความพยายามในการปรับตัวเพื่อสู้กับภาวะดิสรัปชั่นไม่ได้มีเพียงเฉพาะในมหาวิทยาลัยเอกชนหรือมหาวิทยาลัยขนาดเล็กเท่านั้น แม้แต่สถาบันอุดมศึกษาขั้นนำในกำกับของรัฐยังต้องแสวงหาหลักสูตรการเรียนการสอนใหม่ๆ เพื่อรับมือกับวิกฤตในวงการการศึกษาครั้งนี้

แม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้ลดลงและยังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 8,900 คนในปี 2560 และ 9,200 คนในปีที่แล้ว แต่ทางม.ธรรมศาสตร์ก็คิดว่า ถ้ารอให้จำนวนนักศึกษาลดลงแล้วค่อยมาปรับตัวก็คงไม่ทันการณ์

- Advertisement -

รองศาสตราจารย์ ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ม.ธรรมศาสตร์กล่าวกับ “Business Today” ว่า หลักสูตรที่ธรรมศาสตร์เชื่อว่าจะตอบโจทย์โลกยุคใหม่ก็คือ “Thammasat Frontier School” ซึ่งออกแบบมาเพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ทดลองเรียนรู้และหาแนวทางที่ตอบโจทย์ความต้องการในชีวิตของนักศึกษา โดยไม่ต้องยึดติดกับคณะหรือสาขาเฉพาะทางใดๆ

จากรายงานข่าวที่ผ่านมา พบว่า คณะยอดนิยมยุคปัจจุบันยังคงเป็นสายสังคม เช่น บริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ มากกว่าคณะสายวิทยาศาสตร์ ส่วนคณะนิเทศศาสตร์ และคณะครุศาสตร์ คนเลือกเรียนน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

รศ.ดร.ชาลีกล่าวว่า ต้องจัดการศึกษาให้ตรงความต้องการของผู้เรียน หรือ Personalised Education ไม่ใช่จัดเป็นชุดแบบเหมารวม และต้องไม่มุ่งสร้างเฉพาะทักษะและความรู้ แต่ต้องสร้าง “สมรรถนะ” ด้วย หรือที่เรียกว่า Competency Based-Education และ Self-Dsigned Curriculum โดยใช้วิธีและสื่อการเรียนการสอนแบบผสมผสานเพื่อเด็กให้ได้ทั้งทักษะ ความรู้และความสามารถในการจัดการกับปัญหาหรือความท้าทาย

“เมื่อเด็กไปเจอปัญหาความท้าทาย และสามารถแสดงพฤติกรรมเพื่อสู้กับปัญหานั้นๆ ได้ เราถึงจะบอกได้ว่าเขามี Competency (คุณสมบัติ บุคลิก ทักษะ ความรู้ด้านต่างๆ) จากเดิมที่เรามุ่งสร้างแต่ศักยภาพ หรือ Potential แต่ไม่รู้ว่าเขามี Competency หรือไม่” รศ.ดร.ชาลีกล่าว

ภายใต้หลักสูตรนี้ เมื่อรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีเข้ามา ทุกคนจะเข้ามาอยู่ตรง “ไซโล” รวมกัน โดยใน 3 เทอมแรกทุกคนจะเรียนวิชาทั่วไปและเข้าร่วมกิจกรรมที่นำไปสู่การค้นหาตัวเองให้เจอ พอถึงเทอมที่ 4 ทุกคนจะต้องประกาศว่า ตัวเองจะเรียนวิชาเอกหรือคณะอะไร ขั้นแรกจะมีให้เลือกประมาณ 10 สาขาวิชา

“แต่จะมีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่บอกว่า เขาไม่ชอบสาขาใดสาขาหนึ่งเลย แต่อยากเรียนผสมหลายๆ สาขา เพราะอยากเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็อยากเรียนโยธา กฎหมาย การเงิน เพื่อจะได้ออกมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์” รศ.ดร.ชาลีกล่าว

“เราจึงออกแบบสาขาที่ 11 หรือ Multi-disciplinary science ขึ้นมาเพื่อรองรับความสนใจหรือต้องการของคนกลุ่มนี้ โดยสามารถเลือกเรียนชุดวิชารองชุดละ 15 หน่วยกิตของหลายๆ คณะซึ่งออกแบบมาให้สอดคล้องกับสมรรถนะในการทำงาน และเอาเครดิตมารวมกันเพื่อให้ได้ตามที่กำหนดสำหรับการจบปริญญาตรี” รศ.ดร.ชาลีกล่าว

หลักสูตรนี้มีความยืดหยุ่นให้ผู้เรียนสามารถปรับเปลี่ยนตัวได้รวดเร็ว เช่น เรียนไป 2 ปีแล้วรู้สึกว่าไม่ใช่ ก็ Unplug (ยุติ) ชุดวิชาเดิมและ Plug-in (เลือกลง) ชุดวิชาใหม่แทน สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้ใน 4 ปีโดยไม่ต้องมาสมัครสอบเข้าเรียนใหม่ ส่วนปริญญาบัตรที่ได้ก็จะเป็นคณะศิลปศาสตร์สาขาสหวิทยาการ

หลักสูตรนี้ยังเปิดโอกาสให้คนนอกรั้วมหาวิทยาลัย หรือคนที่อยู่ในวัยทำงานมาลงเรียนได้ด้วยเพื่อเป็นการเสริมทักษะใหม่ให้ตัวเอง หลักสูตรใหม่นี้กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอเป็นโครงการทดลอง

ด้าน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) ซึ่งเน้นการสอนทักษะของการเป็นผู้ประกอบการหรือ Entrepreneur ก็ประสบภาวะจำนวนนักศึกษาลดน้อยลง 15 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจึงต้องมีการปรับหลักสูตร วิธีการเรียนการสอนรวมถึงวิธีการวัดผลนักศึกษาด้วย

Thammasat Gen Next Academy
Thammasat Gen Next Academy

ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมธบ. กล่าวกับ Business Today” ว่า ที่ผ่านมามีการพัฒนาหลักสูตรที่มีชื่อว่า DPU Core” เพื่อพัฒนาทักษะ 6 ด้านให้เด็ก หรือที่เรียกว่า DPU DNA” อันได้แก่ การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร ความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี การมีความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์และแก้ปัญหา และการเป็นผู้ประกอบการ โดยนักศึกษาทุกคนจะต้องเรียน DPU CORE ซึ่งเป็นโมเดลการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่มุ่งเน้นการสร้างบุคลากรแห่งอนาคต การวัดผลนักศึกษาก็จะดูว่า นักศึกษามีทักษะการเป็นผู้ประกอบการมากน้อยแค่ไหน

ดร.ดาริกา กล่าวว่า วิธีการเรียนการสอนยังทำควบคู่กันไประหว่างออฟไลน์และออนไลน์ เพราะวิธีการเรียนการสอนที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดคือต้องให้ผู้เรียนมี Interactive และสร้าง Engagement (การเข้าถึง) เพราะจะช่วยรับมือกับความคิดที่ว่า ปริญญาบัตรนั้นไม่มีคุณค่า โดยอาจารย์ผู้สอนต้องสามารถถ่ายทอดทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน หรือทักษะที่อาจารย์ใช้ในการทำวิจัยให้นักศึกษา ไม่ใช่ถ่ายทอดแต่เนื้อหาวิชาความรู้อย่างเดียว

ด้านมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนแบบ Work-based education หรือการเรียนรู้ควบคู่ฝึกปฏิบัติงานจริงอย่างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ แม้จำนวนนักศึกษาจะไม่ลดลงและเพิ่มขึ้นปีละ 1,000 คนต่อปี แต่ก็มีการปรับหลักสูตรเช่นกั

มหาวิทยาลับธุรกิจบัณฑิต
มหาวิทยาลับธุรกิจบัณฑิต

รองศาสตราจารย์ ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์  กล่าวกับ “Business Today” ว่า นโยบายหลักเน้นไปที่การสร้างผู้เรียนให้อยู่รอดจากการดิสรัปชั่น โดยให้ความสำคัญกับคุณสมบัติ 6 ประการ คือ มุ่งมั่น มีวิสัยทัศน์ มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ รู้จักคิดอย่างวิเคราะห์ และต้องมีแรงบันดาลใจ เพราะบุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวจะสามารถ คิด วิเคราะห์เพื่อการแก้ปัญหา และตัดสินซึ่งเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์ทำไม่ได้

ทางสถาบันฯ ยังทบทวนวิชาที่จะถูกดิสรัป เช่น วิชาที่มีรูปแบบ (Pattern) ตายตัว หรือเกี่ยวข้องกับตัวเลขที่ต่อไปไม่จำเป็นต้องใช้คนเพราะ AI และหุ่นยนต์ทำแทนได้ โดยจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้คนใช้ประโยชน์จากวิชาเหล่านั้นหรือสอนให้คนเป็นเจ้านายของ AI และหุ่นยนต์

แน่นอนว่า การปรับตัวของสถาบันการศึกษาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งผู้บริหารการศึกษาทั้ง 4 เห็นตรงกันว่า ความท้าทายอย่างหนึ่งก็คือ ตัวอาจารย์ผู้สอนที่จะต้องยอมออกจากพื้นที่สบาย ( Comfort Zone) และเปิดใจรับแนวการสอนแบบใหม่ และต้องพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Reskilling) และเสริมทักษะใหม่ (Upskilling) เพื่อให้มีความสามารถที่จะสอนเด็กได้ เพราะถ้าเด็กเก่งกว่าอาจารย์ “แล้วจะสอนกันยังไง” อาจารย์ท่านหนึ่งตั้งคำถาม

ที่สำคัญ จากนี้ไป อาจารย์ต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชไม่ใช่ผู้สอน และเรียนรู้ร่วมไปกับผู้เรียน และเน้นการสอนภาคปฎิบัติหรือทำเวิร์คชอปมากขึ้น

Story by: จินตนา ปัญญาอาวุธ
Contributor: วิทยา แสงอรุณ
Original print version: ทางเลือก ทางรอด มหาวิทยาลัยไทย 14-20 ต.ค. 2562

ข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง:
เมื่อ “การศึกษา” เป็นต้นเหตุของปัญหาสังคม และทุกอย่างคือการลงทุน

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News