วิโรจน์ จิรพัฒนกุล อดีต Data Scientist Facebook จบปริญญาตรี วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ที่จุฬาฯ ได้โอกาสรับทุนพระราชทานอานันทมหิดล ไปเรียนปริญญาโทและเอก ที่ MIT สหรัฐฯ 6 ปี ในสาขา Operation Research หรือ การนำคณิตศาสตร์มาแก้ปัญหาธุรกิจ เช่น การตั้งราคาโรงแรมให้ได้กำไรเยอะที่สุด ปัจจุบันเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO Skooldio แพลตฟอร์มด้านการศึกษา
-EdTech ตอบโจทย์การศึกษายุค (หลัง) โควิด-19
-Globish เปิดรับครูอาสาอัปสกิลเด็กไทย 5 วิชา
วิโรจน์ กล่าวกับ Business Today ว่า หลังจากจบมาก็เห็นว่าคณิตศาสตร์สามารถแก้ปัญหาธุรกิจได้มาก ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ศาสตร์ด้านข้อมูล (Data) กำลังบูม จึงไปทำงานที่ Facebook ในตำแหน่ง Data Scientist อยู่ 3 ปี ทำทั้งการประมาณการรายได้ เพื่อนำไปคาดการณ์ว่าจะได้รายได้ต่อปีเท่าไหร่
ช่วยดูเรื่อง New feed ของทั้งโลก และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เช่น คนไทยที่ชอบกดไลค์อย่างเดียว ส่วนญี่ปุ่นจะใช้ Facebook เหมือนเป็น Twitter ชอบอะไรก็กดแชร์
หลังจากอยู่มา 3 ปี คิดว่าจะหางานใหม่ในซิลิคอนวัลเลย์ แต่ได้มีโอกาสกลับมาประเทศไทย และได้ขึ้นพูดที่ จุฬาฯ ซึ่งประทับใจมากมีคนเข้ามาฟังมากมายจนล้นฮอลล์ ว่า Data Scientist คืออะไร
“ถ้าเราจะกลับมาประเทศไทยจะมีคนอยากให้เราเข้าไปช่วยในองค์กร ให้เราเข้ามาทำอะไรเยอะมาก แต่ถ้าอยู่ใน Facebook เราคงเป็นแค่ 1 ใน 10,000 คน ประกอบกับการเป็นนักเรียนทุน ซึ่งตั้งใจอยู่แล้วว่ายังไงก็ต้องกลับมาประเทศไทย”
จุดเริ่มต้นก่อตั้งบริษัท
วิโรจน์ กล่าวว่า ตอนแรกคิดว่าจะไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่เพื่อนแนะนำว่าน่าจะทำอย่างอื่นมากกว่า สุดท้ายจึงมาก่อตั้ง Skooldio แพลตฟอร์มด้านการศึกษา นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างผลกระทบในเรื่องการเรียน และอีกครึ่งตัวก็ยังเป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ
“เราบังคับพนักงานดูข้อมูลตลอดเวลา ทุกคนจะต้องเข้า Google Analytics และ Facebook Insight ได้”
ให้พนักงานทำโครงการโดยใช้ข้อมูลเพื่อให้เข้าใจธุรกิจ ประเมินว่าแต่ละวันจะขายได้กี่คน มีเป้าหมายเท่าไหร่ และตรงไหนที่ต้องเข้าไปจัดการเพิ่ม
ปัจจุบันมีสเกลคนเรียนออนไลน์ใหญ่กว่า แต่รายได้มาจากออฟไลน์มากกว่า เช่น จัดอบรมให้กับบริษัท ในปี 2019 มีสัดส่วนรายได้มาจากออฟไลน์ 80%
“เราตั้งเป้าทำงานกับมหาวิทยาลัยมากขึ้น อยากจะให้ทุกคนมีทักษะเป็นที่ต้องการของโลก เพราะเราเห็นปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) และทักษะไม่ตรงกับที่อุตสาหกรรมต้องการ”
วิโรจน์ กล่าวต่อว่า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ในยุคก่อนไม่มีใครเรียนเรื่อง Mobile Development หมายความคนที่จบในยุคก่อนและมีความสามารถนี้จะต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่นเดียวกับคนที่เรียนการตลาดมา ในยุคนี้จะต้องรู้เรื่อง SEO และ Online Marketing
“ที่น่าเศร้าคือปัจจุบันมีโปรแกรมเมอร์ตกงานเยอะมาก ขณะเดียวกันในตลาดก็บอกว่าขาดโปรแกรมเมอร์เยอะมาก”
จัดคอร์สเน้นการทำธุรกิจ
Skooldio มีประมาณ 20 คอร์สเรียน เน้น 3 เรื่อง คือ
-เทคโนโลยี: เป็นเรื่องของการทำข้อมูล แมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) และปัญญาประดิษฐ์ (AI)
-การออกแบบ: สอนเรื่องการออกแบบความคิด (Design Thinking) เป็นดีไซน์ที่ล้ำสมัย
-ธุรกิจ: สอนการทำการตลาดดิจิทัล (Digital Marketing)
“เราเน้นที่คุณภาพเป็นหัวใจหลัก เปลี่ยนคนให้มีทักษะที่ดีขึ้น ให้ผู้ที่เข้ามาเรียนจบไปแล้วสามารถนำไปใช้ได้จริง”
วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีคนเรียนมีมากกว่า 10,000 คน และรวมทั้งหมดตั้งแต่เปิดมาประมาณ 30,000 คน ร่วมงานมากกว่า 400 องค์กรทั่วประเทศไทย 80% เป็นองค์กรใหญ่ ซึ่งธนาคารเกือบทั้งหมดในไทยเป็นลูกค้าของ Skooldio
ใช้เทคนิคแบ่งการเรียนไม่ให้ยาวมากในแต่ละครั้ง ประมาณ 2-3 ชั่วโมง มีส่วนที่เป็นโครงการให้ทำได้ด้วยตัวเอง (Self Test) และใช้เวลาเรียนทั้งหมดประมาณ 6-10 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับว่าเรียนได้เร็วขนาดไหน ราคาตั้งแต่ 1,490-2,990 บาท ขึ้นอยู่กับตวามละเอียดของเนื้อหา
“เราพยายามมีโปรโมชั่นลดราคาให้นักศึกษาเรื่อย ๆ และสามารถเรียนซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะมีปัญหาว่าเมื่อเรียนเมื่อไหร่ก็ได้เด็กจะไม่ค่อยตั้งใจเรียน ในตลาดเริ่มมีหลายเจ้าปรับเป็นการจ่ายค่าคอร์ส และเรียนได้ 3-5 เดือน ซึ่งเรากำลังปรับมาทางนี้เหมือนกัน”
คนเรียนปรับตัวจากวิกฤติ
วิโรจน์ กล่าวว่า การฝึกอบรมออนไลน์เป็นเรื่องท้าทายสำหรับคนเรียนมาก Skooldio มีวิธีการ คือ ให้คนเข้ามาก่อนเวลา 30 นาที เพื่อฝึกใช้เครื่องมือจนมั่นใจว่าทุกคนจะใช้งานได้
ต่อจอแยกออกมาเพื่อให้เห็นผู้เข้าอบรมทุกคนได้ชัด เสมือนเรียนแบบออฟไลน์ และยังช่วยแก้ปัญหาผู้เข้าอบรมไม่เข้าใจบทเรียนได้
“เรามองว่าเมื่อทุกอย่างไปอยู่บนดิจิทัลทั้งหมด งานที่เราต้องการจะสนทนาหรือโต้ตอบกันก็จะอยู่บนจอซึ่งเป็นข้อดี อีกส่วนคือคนที่อยู่ในต่างจังหวัด จะสามารถเข้ามาเรียนออนไลน์ได้”
วิโรจน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันคนเรียนจากโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook หรือ YouTube จึงพัฒนา Skooldio Tutorial ขึ้นมาในช่วงโควิด-19 ใช้เวลาพัฒนา 1 สัปดาห์ เป็นแพลตฟอร์มฟรี เน้นเนื้อหาสั้น ๆ ได้ความรู้ไว และสามารถแชร์คลิปการเรียนได้ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี
นำเนื้อหาเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเพื่อช่วยคนที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือความรู้ แต่ไม่สามารถถามคนในบริษัทได้เพราะทุกคนทำงานอยู่ที่บ้าน
ให้พนักงานในบริษัทช่วยกันนำเทคนิคที่ได้เรียนรู้มาทำเป็นวิดีโอขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์ม ซึ่งตอนเปิดตัวได้มา 20 คลิป
“คนเข้ามาหาวิธีการใช้ Google Sheets หรือการทำ Project Management ทำให้เราเห็นว่า บางเรื่องที่เราคิดว่ามันเป็นความรู้ง่าย ๆ แต่มันมีประโยชน์กับคนอื่น”
วิโรจน์ กล่าวต่อว่า Skooldio Tutorial สามารถต่อยอดได้หลายอย่าง เช่น หลายองค์กรมี e-learning ที่ไม่มีใครเรียน เพราะไม่มีเนื้อหา หรือมีแต่ยาวหรือยากเกินไป
ตั้งเป้าพัฒนาเป็นแพลตฟอร์ม Knowledge Management and Service หรือในปลายทางอาจจะสร้างนิสัยการอยากเรียนรู้ ซึ่งจะดีต่อภาพรวมของตลาด
“เราตั้งใจว่าจะเปิดยาว เพราะเริ่มมีคนดังในโลกโซเชียลอยากเข้ามาแชร์ความรู้กันมากขึ้น ปัจจุบันมีคนส่งคลิปเข้ามาอย่างน้อยวันละ 1 คลิป หลังเปิดมา 2-3 สัปดาห์”
ตั้งเป้าขยายตลาดไปต่างประเทศ
Skooldio มีรายรับเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัวตั้งแต่เปิดตัว 2018 รายรับประมาณ 30 ล้านบาท 2019 รายรับประมาณ 50 ล้านบาท และมีกำไร 20-30%
วิโรจน์ ตั้งเป้าในเบื้องต้นว่า ปี 2020 จะมีรายรับประมาณ 100 ล้านบาท แต่จากวิกฤติโควิด-19 อาจจะต้องประมาณการณ์รายได้ใหม่อีกครั้ง
“ถ้าสถานการณ์คลี่คลายได้เร็วก็จะดี การที่ปิดไป 1-2 เดือน รายได้ฝั่งออฟไลน์หายไปมากพอสมควร”
Skooldio เคยได้ทุนจาก CU Innovation Hub 5 ล้านบาท ในปี 2017 และได้ทุนส่วนหนึ่งจากการเข้าร่วม dtac Accelerate Batch 7
วิโรจน์ ตั้งเป้าขยายตลาดประเทศไทยให้แข็งแรง และพิสูจน์ว่าสามารถสร้างคนไปทำงานในอุตสาหกรรมได้จริง เพื่อเปิดโมเดลธุรกิจเพิ่ม ก่อนจะขยายประเทศเพื่อนบ้านในอีก 2 ปี
“เรามองหาคนที่เข้ามาลงทุนและสามารถดึงพาร์ทเนอร์ หรือสินค้าของเราไปต่างประเทศได้ พาไปในตลาดใหม่เพื่อขยายธุรกิจ”
อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
ทรงกลด แซ่โง้ว – เรียบเรียง