HomeCOVID-19EdTech ตอบโจทย์การศึกษายุค (หลัง) โควิด-19

EdTech ตอบโจทย์การศึกษายุค (หลัง) โควิด-19

จากวิกฤติโควิด-19 ที่ดันสตาร์ตอัพด้านการศึกษา (EdTech) โตอย่างก้าวกระโดด Business Today เชิญผู้เกี่ยวข้องในบทบาท “ผู้สอน ผู้พัฒนาระบบ และนักลงทุน” ร่วมเปิดมุมมองในมิติต่าง ๆ ทั้งในด้าน การเข้าถึงข้อมูลของนักเรียน-นักศึกษา, การจัดการระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษา และการอัปสกิล รีสกิล ขององค์กรต่าง ๆ รวมถึงบทบาท EdTech ยุคหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร

-วิกฤติโควิด-19 ดันสตาร์ตอัพ EdTech ไทยเติบโต
-สตาร์ตอัพด้านการศึกษา หนึ่งในธุรกิจที่มาแรงในวิกฤติโควิด-19

แก้ปัญหาหลังเกิดวิกฤติโควิด-19

อาจารย์จเลิศ เจษฎาวัลย์ คณบดีคณะสื่อสารมวลชน ม.รามคำแหง กล่าวว่า หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ได้สั่งให้การศึกษาภาคพิเศษเตรียมการสอนออนไลน์ทันที แปลงโฉมห้องเรียนให้เป็นสตูดิโอ ซึ่งรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัย 2 ระบบ คือมีชั้นเรียนที่เป็น Cyber Classroom มีนักศึกษาเรียนเป็น 1,000 คน และ On-Demand คือ เรียนย้อนหลัง

- Advertisement -

ปกติรามคำแหงจะมีประมาณ 2,000 กว่าวิชา แต่ในภาคฤดูร้อนเปิดสอนประมาณ 1,000 กว่าวิชา ซึ่งอาจารย์รามคำแหงจะทำเป็นอาชีพอยู่แล้วในจำนวน 200-300 วิชา แต่คณะที่จะลำบากบ้าง คือ คณะวิทยาศาสตร์เพราะเนื้ออาจจะไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์มากนัก ด้านอาจารย์ที่ยังทำไม่เป็นก็มีการจัดอบรมสอนออนไลน์ และปรับบทเรียนให้เป็น On-Demand ทั้งหมด

ด้านจันทนารักษ์ ถือแก้ว กรรมการ ผจก.โครงการ StormBreaker Venture กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 คือ การจัดอบรมให้ความรู้กับคนทั่วไปในด้านการศึกษาที่ต้องเชิญผู้บรรยายจากต่างชาติมาจะต้องเลื่อนไปก่อน

ส่วนโครงการ Hackathon ที่จะเชิญ EdTech สตาร์ตอัพ และผู้ประกอบการ เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องการศึกษาด้วยเทคโนโลยี ต้องเปลี่ยนแผนใหม่เป็นกึ่ง Virtual Hybrid คือให้สตาร์ตอัพเข้ามารับโจทย์และกลับไป hack ที่บ้าน

ส่วนวิโรจน์ จิรพัฒนกุล อดีต Data Scientist ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO, Skooldio กล่าวว่า ผลกระทบในวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้รายรับสวนใหญ่ที่มาจากการจัดอบรมให้กับบริษัทโดนยกเลิกทั้งหมด ขณะที่คอร์สออนไลน์ยังขายได้ต่อไป

ในช่วงแรกบริษัทต่าง ๆ ยังลังเลที่จะย้ายมาจัดอบรมบนอนไลน์ แต่ตอนนี้ก็เริ่มปรับเข้ามาจะอบรมออนไลน์กันมากขึ้น

Skooldio ปรับตัวมาทำเวิร์คช็อปออนไลน์ ผ่านทาง Zoom ใช้โปรดักชั่นเข้ามาเสริม จัดรูปแบบกิจกรรมใหม่เพื่อให้สามารถทำออนไลน์ได้สมบูรณ์แบบ ปรับวิธีการสอนของอาจารย์ต่าง ๆ ให้กระชับมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนมากขึ้น ซึ่งใช้เวลาค้นคว้ากว่า 1 เดือน

จัดโครงการ Skooldio for U ให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนในหัวข้อเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาร่วมโครงการและให้โค้ดเรียนฟรีกับเด็ก ๆ

“คนมักจะพูดว่าออนไลน์สู้ออฟไลน์ไม่ได้ ซึ่งคนที่ไม่รู้จักกันอาจจะยาก แต่สำหรับคนที่รู้จักกันอยู่แล้วจะได้ประสบการณ์เรียนที่ดีกว่าจากออนไลน์ เช่น คนที่เคยอยู่หลังห้อง จะได้เห็นสไลด์ได้ชัดเจนกว่าเดิม รวมถึงในแพลตฟอร์มจะมีชื่อทุกคนแสดงอยู่ทำให้อาจารย์จำชื่อคนได้ง่ายขึ้น” วิโรจน์ กล่าว

เทคโนโลยี แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม

อาจารย์จเลิศ กล่าวว่า ปัญหาคือเด็กมีอุปกรณ์ไม่เพียงพอเวลาอยู่นอกสถานศึกษา ขณะที่ครอบครัวที่มีศักยภาพในการจัดหาอุปกรณ์จะได้เปรียบ ด้านอาจารย์จะต้องมีระบบเข้ามาสนับสนุน อบรม เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับอาจารย์ รวมถึงการออกแบบหน้าจอให้เหมาะสมกับการสอนไม่ว่าจะใช้คอมพิวเตอร์หรือมือถือ

ด้านจันทนารักษ์ กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ทำให้ตลาดการศึกษาโตขึ้นมากแต่ขณะเดียวกันก็ยังมีคู่แข่งมาก การสร้างความแตกต่างจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

โดย EdTech จะเข้ามาช่วย 3 เรื่อง คือ

-Personalize Learning Platform ช่วยให้ นักเรียนอยู่กับบทเรียนได้มากขึ้น สามารถเรียนกับครูจากต่างประเทศได้ พร้อมเพื่อน ๆ ที่อยู่ในต่างประเทศได้
-Peer Support ทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับนักเรียนมากขึ้น และสามารถประเมินคนได้
-Link to Job เชื่อมต่อไปสู่การทำงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นโดยใช้การเรียนที่สั้นและมีประสิทธิภาพ

“ในปีนี้เราทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา เป็นหน่วยงานที่เข้าไปช่วยโรงเรียนเล็ก ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะเด็กยากจนพิเศษ ที่ครอบครัวมีรายได้น้อย โดยให้สตาร์ตอัพคิดวิธีเข้ามาช่วยให้เกิดผลกระทบในสังคมกลุ่มคนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยได้ เช่น การเปลี่ยนพื้นที่เป็นการศึกษา เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น” จันทนารักษ์ กล่าว

ด้านวิโรจน์ เสริมว่า ธุรกิจต้องพยายามสมดุลขาธุรกิจและการสร้างผลกระทบในสังคมไปด้วยกัน ซึ่ง EdTech ที่สร้างผลกระทบกับสังคมจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากมาย

แต่จะทำอย่างไรให้เด็กตั้งใจเรียนโดยไม่หลุดไปทำอย่างอื่นขณะเรียนออนไลน์ และผู้ปกครองมีบทบาทอย่างไร โดยการส่งสถิติหรือตัวเลขการเรียนของเด็กไปให้ผู้ปกครองได้ ขณะที่ผู้สอนต้องมีหลายบทบาท เป็นโค้ชเข้ามาแก้ปัญหาเด็กโดยใช้ข้อมูล และให้เด็กพัฒนาตัวเองได้

“เราได้มีการเข้าไปคุยกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อจะทดลองวิธีการสอนออนไลน์ที่เหมาะกับเด็กที่สุด ถ้าเราหาวิธีการเรียนออนไลน์ที่ลงตัวได้ก็จะเข้ามาแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีต้นทุนสูง เปลี่ยนบทบาทการสอนของครูในอนาคตได้” วิโรจน์ กล่าว

การศึกษาหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไป

อาจารย์จเลิศ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาของไทยมีมานานแล้วและเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในอนาคตบทเรียนออนไลน์จะมีความสำคัญมากทั้งระดับประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย เพราะโลกเปลี่ยน ใครที่ไม่ยอมเปลี่ยนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

ถึงแม้ว่าหลังวิกฤติโรงเรียนจะเปิดปกติ แต่คนที่มีความรู้จะต้องเข้าไปช่วยสอนการทำบทเรียนออนไลน์ให้กับครูเพื่อนำไปสอนต่อได้

“ทั้งนี้เทคโนโลยีการศึกษาอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกเรื่อง เราจะทำอย่างไรเมื่อต้องใช้เทคโนโลยีมาสอนมนุษย์” อาจารย์จเลิศ กล่าว

วิโรจน์ กล่าวเสริมว่า ในภาพใหญ่เชิงระบบจะเห็นว่ามีเทรนด์จากอเมริกาเข้ามา มหาวิทยาลัยเริ่มปิดตัวลง เพราะความต้องการเรียนในมหาวิทยาลัยลดลง คนปรับมาเรียนสายอาชีพและไปทำงานได้เร็วขึ้น เช่นเดียวกับประเทศไทย

“เมื่อมหาวิทยาลัยอย่าง MIT และมหาวิทยาลัย Harvard นำคนที่เก่งที่สุดมาสอนออนไลน์ คำถามคือ เราจะยังจำเป็นหรือไม่ ที่จะมีอาจารย์เก่ง ๆ คนเดียวอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียว หรืออาจารย์เก่งคนเดียวอยู่ในหลายมหาวิทยาลัยได้ โดยสอนผ่านออนไลน์ และมหาวิทยาลัยปรับบทบาทตัวเองเป็นผู้ที่คอยติดตามเด็ก คอยโค้ช เป็นภาพเชิงระบบ” วิโรจน์ กล่าว

ขณะที่จันทนารักษ์ กล่าวเสริมว่า EdTech ต้องเรียนรู้พฤติกรรมใหม่ ๆ เพราะเมื่อพฤติกรรมเปลี่ยนบริบทก็จะเปลี่ยน และตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน ก็อาจจะเกิดปัญหาโรงเรียนเปิดได้ไม่เต็มที่ EdTech จะต้องเข้ามาช่วยตรงนี้ เข้ามาแก้ปัญหาให้ครู ในการติดตามเด็ก ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าผู้ปกครองมีปัญหาอะไรบ้าง

EdTech ต้องอึด อยู่รอดได้ด้วยตัวเอง

จันทนารักษ์ กล่าวว่า นักลงทุนสนใจเทคโนโลยีด้านการศึกษามากขึ้น ในไตรมาสแรกปีนี้เทียบเท่ากับ 10% ของ 10 ปีที่ผ่านมา แต่วิกฤติโควิด-19 เข้ามาส่งผลกระทบกับนักลงทุน ส่งผลให้หลังจากนี้ EdTech นอกจากจะต้องแตกต่างและดี จะต้องอึด อยู่ได้ด้วยตัวเอง สามารถทำกำไรได้ มีแผนรองรับวิกฤติอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นักลงทุนจะกล้าเข้ามาลงทุน

ขณะเดียวกันสตาร์ตอัพที่ให้คนใช้ฟรี มีคนใช้เยอะ แต่ไม่สามารถสร้างรายได้ จะเติบโตยากขึ้นเพราะนักลงทุนไม่กล้าลง

วิโรจน์ กล่าวเสริมว่า EdTech เป็นตลาดที่ไม่ง่าย ถ้าโฟกัสที่การทำคอนเทนต์ภาษาไทยจะจบที่ในประเทศไทย ไม่สามารถไปต่อได้ แต่ถ้าอยากเป็นยูนิคอร์นบุกตลาดต่างประเทศ จะต้องพึ่งเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์การศึกษาได้มากที่สุด

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News