หน่วยงานกำกับดูแลเทคโนโลยีสารสนเทศและกระทรวงความมั่นคงสาธารณะ ได้เรียกบริษัทไฮเทคของจีนหารือเกี่ยวกับการประเมินด้านความปลอดภัยและแนวโน้มปัญหาที่อาจเกิดจากการใช้งานเทคโนโลยีแต่งเสียงและภาพเคลื่อนไหว (deep fake AI) โซเชียลแอปสำหรับการสนทนา และความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต
บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีนอย่าง บริษัท Alibaba บริษัท Tencent บริษัท ByteDance บริษัท Kuaishou Technology บริษัท Xiaomi Corp และบริษัทอื่น ๆ รวม 11 บริษัทได้เข้าร่วมการหารือดังกล่าว โดยการหารือมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทไฮเทคเหล่านี้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐ มีการประเมินความปลอดภัย และมีมาตรการในการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพหากตรวจพบอันตรายที่อาจเกิดจากการใช้งาน
เทคโนโลยี deep fake เป็นการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อสร้างวิดีโอหรือเสียงสนทนาเสมือนจริง ทำให้ดูเหมือนบุคคลในภาพหรือวิดีโอพูดหรือเคลื่อนไหวทำอะไรบางอย่างทั้ง ๆ ที่บุคคลนั้นไม่ได้ทำอะไร
ประเทศจีนเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติจีนตั้งแต่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับพฤติกรรมการผูกขาดทางการค้าและการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค โดยหน่วยงานกำกับดูแลได้มีคำสั่งให้บริษัทไฮเทคต่างๆ ทำการประเมินเกี่ยวกับความปลอดภัยและจัดทำรายงานส่งให้กับรัฐบาลทุกครั้งที่บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มเติมฟังก์ชันการใช้งานที่มีความสามารถในการทำให้เกิดความเคลื่อนไหวทางสังคมจากเรื่องที่อาจไม่มีมูลความจริง
ในประเทศจีนมีแอปพลิเคชันที่พยายามลอกเลียนแบบแอป Clubhouse เกิดใหม่เป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่บริการแอปสนทนาจากสหรัฐฯ ดังกล่าวถูกสั่งห้ามใช้ในจีนตั้งแต่เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ชาวจีนสามารถเข้าถึงบริการของแอป Clubhouse ได้เป็นเวลาสั้น ๆ และมีผู้ให้ความสนใจร่วมห้องสนทนาหัวข้อที่มีความอ่อนไหว เช่น ค่ายกักกันในเมืองซินเจียง และ อิสรภาพของฮ่องกง จนแอปดังกล่าวถูกคำสั่งระงับใช้งานในประเทศจีนในเวลาต่อมา
บริษัท ByteDance เจ้าของแอป TikTok เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่พยายามที่จะพัฒนาแอปพลิเคชันลักษณะเดียวกับ Clubhouse ขึ้นมาใช้งานในประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีบริษัท Kuaishou และ Xiaomi ที่กำลังพยายามพัฒนาแอปพลิเคชันลักษณะเดียวกัน โดยตั้งเป้าที่จะเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มคนทำงานเป็นหลัก