กลุ่มผู้ประท้วงในการเคลื่อนไหว “แบล็ก ไลฟ์ แมตเทอร์” (Black Lives Matter) หรือชีวิตคนดำก็มีความหมาย เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและความโหดร้ายของตำรวจ ปรากฏให้เห็นเพิ่มมากขึ้นตามเมืองใหญ่ต่างๆ ในยุโรป อาทิ บรัสเซลส์ โคเปนเฮเกน ลอนดอน บูดาเปสต์ มาดริด และบาร์เซโลนา
ประชาชนหลายหมื่นคนออกมารวมตัวกันบนท้องถนนตามเมืองต่างๆ ในยุโรป อาทิ เบอร์ลิน ปารีส มิวนิก ฮัมบวร์ก แฟรงก์เฟิร์ต ดับลิน และปราก เพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ประท้วง “แบล็ก ไลฟ์ แมตเทอร์” ซึ่งเกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จากชนวนเหตุที่ตำรวจสหรัฐฯ นายหนึ่ง จับกุมจอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา ผู้ไร้อาวุธ จนเป็นเหตุให้ฟลอยด์เสียชีวิต
ทั้งนี้ ฟลอยด์ ชายวัย 46 ปี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่เมืองมินนิแอโพลิสของสหรัฐฯ หลังจากตำรวจผิวขาวนายหนึ่งใช้เข่ากดคอของเขานานเกือบ 9 นาที ขณะที่เขาถูกจับใส่กุญแจมือและคว่ำหน้าลงกับพื้น พร้อมส่งเสียงออกมาหลายครั้งว่าหายใจไม่ออก

ยุโรป “หายใจไม่ออก”
ณ กรุงบรัสเซลส์ เมืองที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป (EU) กลุ่มผู้ประท้วงมากกว่า 10,000 คน รวมตัวกันบริเวณจัตุรัสโพเลิร์ต (Place Poelaert) ย่านใจกลางเมือง เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (7 มิ.ย.) บรรดาผู้ประท้วงทุกช่วงวัยและจากหลากหลายชาติพันธุ์ทั่วเบลเยียมเดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณดังกล่าว พร้อมเปล่งเสียงข้อความ “ชีวิตคนดำก็มีความหมาย” (Black Lives Matter) “ไร้ความยุติธรรม ก็ไร้ความสงบ” (No Justice, No Peace)
ขณะที่ป้ายประท้วงต่างๆ ปรากฏข้อความหลากหลาย อาทิ “ตำรวจคือมือสังหาร” (The Police Kill) ที่เขียนด้วยอักษรสีขาวบนพื้นสีดำ หรือ “เราหายใจไม่ออก” (We can’t breathe) ซึ่งเป็นคำพูดสุดท้ายของจอร์จ ฟลอยด์
“เหตุฆาตกรรมจอร์จ ฟลอยด์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” หนังสือพิมพ์บรัสเซลส์ ไทม์ส (Brussels Times) อ้างข้อความของอันช์ กาซี (Ange Kazi) โฆษกเครือข่ายแบล็ก ไลฟ์ แมตเทอร์ ของเบลเยียม ซึ่งผลักดันให้มีการประท้วง “ประชาชนจำนวนมากต่างเหลืออดกับการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคนผิวดำอย่างเป็นระบบ”
ด้านกรุงโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์ก ประชาชนกว่า 15,000 คน ออกมารวมตัวกันประท้วงอย่างสันติบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เมื่อช่วงบ่ายวันอาทิตย์ พร้อมตะโกนข้อความและชูป้ายข้อความส่วนหนึ่งของการประท้วงในกระแสแบล็ก ไลฟ์ แมตเทอร์ ของเดนมาร์ก
หลังรวมตัวกันประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐฯ นานประมาณ 1 ชั่วโมง โดยร่วมกันโห่ร้องว่า “ฉันหายใจไม่ออก” ผู้ประท้วงได้เดินขบวนผ่านใจกลางกรุงโคเปนเฮเกนใกล้กับลิตเทิล เมอร์เมด (Little Mermaid) รูปปั้นสัญลักษณ์ของเมือง ผ่านไปตามถนนคงเงอเกด (Kongegade) ก่อนถึงจัตุรัสพระราชวังคริสเตียนบอร์กส (Christiansborgs Slotsplats) ที่ตั้งของรัฐสภาเดนมาร์ก เพื่อแถลงสุนทรพจน์
ส่วนในสเปน ประชาชนหลายพันคนได้ออกมาส่งเสียงสนับสนุนกระแสประท้วงแบล็ก ไลฟ์ แมตเทอร์ ร่วมกับทั่วโลก โดยอาร์ทีวีอี (RTVE) สถานีโทรทัศน์ของสเปน รายงานว่ามีประชาชนราว 3,000 คน ร่วมขบวนประท้วงในกรุงมาดริด ซึ่งเริ่มขึ้นบริเวณด้านนอกของสถานทูตสหรัฐฯ
แม้คณะผู้แทนรัฐบาลสเปน (Spanish Government Delegate) จะอนุญาตให้จัดการชุมนุมได้ไม่เกิน 200 คน ทว่ากลับมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมมากกว่าที่คาดไว้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในเมืองอื่นๆ ทั่วยุโรป
นอกจากนี้ยังมีประชาชนออกมาเดินขบวนในนครบาร์เซโลนาด้วยจุดมุ่งหมายเดียวกันอีกราว 3,000 คน ทั้งยังมีการชุมนุมประท้วงในเมืองต่างๆ อาทิ บิลเบา ซานเซบาสเตียน และวิกตอเรีย ในแคว้นบาสก์ทางตอนเหนือของประเทศ ตลอดจนเมืองโลโกรโญและมูร์เซีย
ขณะที่กรุงบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี ประชาชนกว่า 1,000 คน ออกมารวมตัวประท้วงอย่างสันติบริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐฯ โดยผู้ประท้วงเกือบทั้งหมดสวมหน้ากากอนามัย และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังอย่างแน่นหนา แต่ไม่ได้ขัดขวางผู้ชุมนุม
ผู้ประท้วงในฮังการี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนวัยหนุ่มสาว ได้ถือป้ายแสดงข้อความ “ชีวิตคนดำก็มีความหมาย” บริเวณหน้ากลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งยังมีป้ายแสดงข้อความอื่นๆ อาทิ “ตำรวจมีทั่วไป แต่ความยุติธรรมอยู่แห่งใด” หรือ “ไร้ความยุติธรรม ก็ไร้ความสงบ”
หลังเสร็จสิ้นการแถลงและการเปิดเพลง ผู้ประท้วงได้คุกเข่าลงสงบนิ่งเป็นเวลา 8 นาที 46 วินาที ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนฟลอยด์จะหมดสติ ระหว่างถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เข่ากดคอ
“มีไวรัสอยู่ตัวหนึ่งที่ร้ายแรงกว่าโควิด-19”
ข้ามช่องแคบอังกฤษสู่สหราชอาณาจักร ประชาชนหลายหมื่นคนออกมาชุมนุมประท้วงกันเป็นวันที่ 2 ตามเมืองต่างๆ อาทิ ลอนดอน แมนเชสเตอร์ คาร์ดิฟฟ์ เลสเตอร์ บริสตอล และเชฟฟีลด์ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะประกาศห้ามจัดการชุมนุมโดยคนหมู่มาก สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำนักข่าวบีบีซี (BBC) รายงานว่าประชาชนหลายพันคนออกมารวมตัวกันในลอนดอน โดยส่วนใหญ่สวมผ้าปิดปาก ขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากสวมถุงมือ
รายงานข่าวระบุว่า ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งบริเวณด้านนอกสถานทูตสหรัฐฯ ใจกลางกรุงลอนดอน คุกเข่าลงข้างหนึ่งพร้อมกับชูกำปั้นขึ้นฟ้า ท่ามกลางเสียงโห่ร้อง “ความเงียบคือความรุนแรง” และ “สีผิวไม่ใช่อาชญากรรม”
ส่วนการประท้วงของกลุ่มอื่นๆ ในกรุงลอนดอนนั้น ผู้ประท้วงบางรายถือป้ายโยงถึงไวรัสโคโรนา โดยมีป้ายหนึ่งระบุข้อความว่า “มีไวรัสอยู่ตัวหนึ่งที่ร้ายแรงกว่าโควิด-19 นั่นคือการเหยียดเชื้อชาติ” บีบีซีรายงานว่ากลุ่มผู้ประท้วงได้คุกเข่าลงสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ก่อนจะร่วมเปล่งเสียงเป็นข้อความว่า “ไร้ความยุติธรรม ก็ไร้ความสงบ”และ “ชีวิตคนดำก็มีความหมาย”
ด้านเมืองบริสตอลทางตอนใต้ของประเทศ ผู้ประท้วงประเด็นแบล็ก ไลฟ์ แมตเทอร์ ได้โค่นรูปปั้นเอดเวิร์ด โคลสตัน (Edward Colston) พ่อค้าทาสจากยุคศตวรรษที่ 17 ลงมาจากฐาน
คลิปวิดีโอจากสื่อสังคมออนไลน์เผยให้เห็นขณะกลุ่มผู้ประท้วงกำลังดึงรูปปั้นดังกล่าวลงมาจากฐาน ระหว่างการประท้วงในใจกลางเมือง ขณะที่คลิปวิดีโอในเวลาต่อมาเผยให้เห็นว่าผู้ประท้วงกำลังนำรูปปั้นดังกล่าวไปทิ้งลงแม่น้ำเอวอน
คอลสตันเป็นพ่อค้าที่ทำงานให้กับบริษัทรอยัล แอฟริกัน คอมพานี (Royal African Company) ก่อนรับตำแหน่งผู้แทนสังกัดพรรคทอรี (Tory) ประจำพื้นที่เมืองบริสตอล โดยรูปปั้นสัมฤทธิ์ของเขาตั้งอยู่ใจกลางเมืองตั้งแต่ปี 1895 ก่อนจะเป็นประเด็นถกเถียงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังนักรณรงค์จำนวนหนึ่งมีความเห็นว่าคอลสตันไม่สมควรได้รับการยอมรับจากสาธารณชนในเมืองนี้
จอห์น แม็กอัลลิสเทอร์ (John McAllister) ผู้ประท้วงวัย 71 ปี ให้สัมภาษณ์กับสื่อท้องถิ่นว่า “ชายคนนี้คือพ่อค้าทาส เขาเป็นผู้โอบอ้อมอารีสำหรับเมืองบริสตอล ทว่าสิ่งที่เขาทำคือการค้าทาสซึ่งเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง นั่นคือการดูหมิ่นชาวบริสตอล”
ที่มา : สำนักข่าวซินหัว