- เปิดเผยตัวเลขการเงินครั้งแรก กำไรครึ่งปีนี้ 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์
- คาดเข้าตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้และฮ่องกง ไตรมาส 3 ปีนี้ มูลค่าตลาดกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์
- มาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด ดันรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น
บริษัท แอนท์ กรุ๊ป ผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินยักษ์ใหญ่สัญชาติจีน หนึ่งในบริษัทของมหาเศรษฐีแจ๊ค หม่า ได้ออกมาเปิดเผยถึงผลกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลภายหลังจากที่ได้ประกาศเตรียมจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นครั้งแรกด้วยมูลค่าสูงทำลายสถิติที่ผ่านมา
บริษัท แอนท์ กรุ๊ป ได้ยื่นเอกสารเพื่อขอจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และฮ่องกง และได้เปิดเผยตัวเลขข้อมูลทางการเงินของบริษัทเป็นครั้งแรก โดยบริษัทมีรายได้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนมิถุนายนมูลค่า 7.25 หมื่นล้านหยวน (1.05 หมื่นล้านดอลลาร์) และมีผลกำไรรวม 2.12 หมื่นล้านหยวน (3 พันล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็นผลกำไรถึง 30% ของรายได้
บริษัท แอนท์ กรุ๊ป ตั้งเป้าว่าจะจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ภายไตรมาสที่สามของปีนี้และคาดว่าจะมีมูลค่าตลาดกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยหุ้นที่แอนท์วางแผนจะออกขายส่วนหนึ่งประกอบด้วยทุนเรือนหุ้นจำนวน 10% เป็นอย่างต่ำ ซึ่งหมายความว่าบริษัทจะสามารถระดมทุนได้มากถึง 2 หมื่นล้านเหรียญ
หากบริษัท แอนท์ กรุ๊ป ทำสำเร็จตามที่วางแผนไว้ บริษัทจะกลายเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศจีน และจะกลายเป็นบริษัทฟินเทคระดับแนวหน้าของโลกเทียบเท่ากับบริษัท เพย์พาล โฮลดิ้งส์ และบริษัท มาสเตอร์คาร์ด ซึ่งมีมูลค่าหลักทรัพย์ 2.33 และ 3.44 แสนล้านดอลลาร์ตามลำดับ
รายได้ส่วนใหญ่ของบริษัท แอนท์ กรุ๊ป มาจากเทคโนโลยีการเงินดิจิทัล ซึ่งมีการเรียกเก็บค่าบริการด้านเทคโนโลยีจากธนาคาร ผู้จัดการสินทรัพย์ และบริษัทประกันภัยที่ใช้แอปของอาลีเพย์ในการออกสินเชื่อ ขายกองทุนรวม ขายประกันภัย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ แก่ลูกค้า และวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมากลับยิ่งกระตุ้นให้การทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีรายได้และผลกำไรที่เพิ่มขึ้นตามมา
อย่างไรก็ดี บริษัท แอนท์ กรุ๊ป ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของรัฐบาลจีนที่บริษัทมองว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศจีนได้มีการออกระเบียบควบคุมบริษัทที่ให้บริการทางการเงินตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว อันเป็นเหตุให้บริษัท แอนท์ กรุ๊ป เปลี่ยนชื่อจาก แอนท์ ไฟแนนเชียล เพื่อแสดงให้เห็นว่าบริษัทเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีมากกว่าบริษัทผู้ให้บริการทางด้านการเงิน