นายจ้างสหรัฐกว่า 70% หันจ้างฟรีแลนซ์ เหตุไม่มั่นใจสถานการณ์ช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 เน้นหาฟรีแลนซ์สายงานเขียน ครีเอทีฟ ดูแลเว็บ พัฒนาซอฟต์แวร์ บริการลูกค้า
แม้จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการจากการว่างงานในสหรัฐ ไม่สูงเหมือนที่นักวิเคราะห์คาดหมาย แต่ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1.5 ล้านคน สะท้อนว่าโควิด-19 ยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างค่อนข้างยืดเยื้อ
รายงาน “Future of the Workforce Report” จาก Upwork สะท้อนว่าในช่วงที่ตลาดแรงงานกำลังเผชิญความไม่แน่นอนนี้ ถือเป็นโอกาสสำหรับผู้รับจ้างอิสระ เพราะนายจ้างและฝ่ายบุคคลพากันหันไปมองหาฟรีแลนซ์
จากการสำรวจผู้บริหารฝ่ายบุคคล 1,500 คนในสหรัฐ พบว่า ฝ่ายบุคคล 45% คาดว่าจะระงับการจ้างพนักใหม่ และ 39% คาดว่าอาจมีการปลดพนักงานในอนาคตอันใกล้ ขณะเดียวกัน ฝ่ายบุคคล 73% กำลังมองหาผู้รับจ้างอิสระ เพื่อจ้างงานในระยะเวลาประมาณ 4 เดือน
ฟรีแลนซ์สายงานที่นายจ้างมองหามากที่สุด คืองานเขียน ครีเอทีฟ พัฒนาเว็บ พัฒนาซอฟต์แวร์ ออกแบบและสร้างภาพเคลื่อนไหว ใช้อินเทอร์เน็ตทำการตลาด และวิเคราะห์เว็บไซต์
สายงานเหล่านี้สามารถทำงานจากทางไกล คือไม่ต้องเข้าออฟฟิศได้ด้วย ดังนั้นจึงเหมือนเป็นการปรับมุมมองใหม่ของนายจ้าง ว่ามีตัวเลือกแรงงานที่มีทักษะรออยู่ตามสถานที่ต่างๆ อีกมากมาย และแรงงานเหล่านี้สามารถเป็นส่วนหนึ่งในกลยุทธ์ระยะยาว เพราะช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถด้านขีดแข่งขันรวมถึงมีความคล่องตัว
นอกจากนั้น คุณสมบัติที่นายจ้างมองหา ยังรวมถึงคนทำงานที่มีทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสายอาชีพ และคนทำงานที่มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในการรับและสื่อสารข้อมูลข่าวสารออกไป เช่น ทักษะด้านบริการลูกค้า ทักษะในการแก้ปัญหา
นอกจากในช่วงเวลาเฉพาะหน้าที่มีการระบาดของโควิดแล้ว ยังคาดว่าฟรีแลนซ์จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต โดยคาดว่าการจ้างงานฟรีแลนซ์ในสหรัฐ จะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 30% เป็น 63% ภายใน 5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม โควิด-19 อาจเป็นอุปสรรคในการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว ดังนั้น นายจ้างจึงต้องหันไปใช้แพลทฟอร์มเสมือนจริงในการสัมภาษณ์
การหันไปจ้างงานฟรีแลนซ์มากขึ้น อันนำไปสู่การทำงานจากทางไกลแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ มีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไม่เสียเวลาเดินทาง ไม่เสียเวลาไปกับการประชุมที่ไม่จำเป็น และไม่มีสิ่งรบกวนสมาธิในการทำงาน อันทำให้มีผลิตภาพในการทำงานหรือได้เนื้องานมากขึ้น ขณะเดียวกัน ลูกจ้างก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ฝ่ายบุคคล 59% ในการสำรวจครั้งนี้ มองว่าบริษัทที่ไม่ปรับตัวเข้ากับสภาพการจ้างงาน และสภาพการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น เสี่ยงที่จะมีขีดแข่งขันน้อยลง