HomeWorld'Brooks Brothers' ร้านขายสูทระดับผู้นำ-นายแบงก์ อายุ 200 ปี ยื่นล้มละลาย

‘Brooks Brothers’ ร้านขายสูทระดับผู้นำ-นายแบงก์ อายุ 200 ปี ยื่นล้มละลาย

กระแส Work-from-Home ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการแต่งกาย ทำร้านขายเสื้อผ้าทำงานได้รับผลกระทบ ล่าสุด “Brooks Brothers” ร้านสูทอายุ 200 ปี ที่มีลูกค้าระดับประธานาธิบดีสหรัฐและนายแบงก์ย่านวอลล์สตรีทยื่นล้มละลาย

Brooks Brothers ร้านขายเครื่องแต่งกายสุภาพบุรุษที่ก่อตั้งมายาวนาน 202 ปี และมีลูกค้าระดับประธานาธิบดีสหรัฐถึง 40 คน รวมถึงบรรดานายแบงก์ย่านวอลล์สตรีท ยื่นล้มละลายภายใต้มาตรา 11 เพื่อฟื้นฟูกิจการ เพราะต้องประสบปัญหาเมื่อผู้คนหันไปใส่เสื้อผ้าทำงานสไตล์แคชวลมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

บริษัทยังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ความต้องการชุดสูทดิ่งวูบ เพราะผู้คนจำนวนมากที่ต้องทำงานจากบ้านในช่วงของการล็อกดาวน์เลือกแต่งตัวสบายๆ แทนการใส่เสื้อเชิ้ตและสูทเต็มยศ

- Advertisement -

ข้อมูลของ GlobalData Retail ระบุว่า ยอดขายเสื้อผ้าทำงานผู้ชายลดลง 74% ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย. เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และความต้องการเสื้อผ้าทำงานจะยังมีไม่มากนักตลอดปีนี้ รวมถึงปีหน้า เพราะการทำงานในออฟฟิศ การประชุม และการเข้าสังคม ล้วนลดลง

ด้านนักวิเคราะห์ชี้ว่า แม้โควิด-19 บั่นทอนแนวโน้มสำหรับธุรกิจชุดสูท รวมถึงเสื้อผ้าทำงาน แต่ Brooks Brothers ไม่ยอมปรับตัวให้เข้ากับเทรนด์การแต่งกายที่เปลี่ยนไป อันเท่ากับเป็นการเดินทวนกระแส

เมื่อเดือนที่แล้ว ทางร้านเพิ่งบอกว่าจะลอยแพพนักงานเกือบ 700 คน ใน 3 รัฐ และมองหาผู้มาซื้อกิจการเพราะโควิด-19 ทำธุรกิจไปไม่รอด ทางร้านประเมินความเป็นไปได้หลายอย่าง รวมถึงขายกิจการแต่ยังหาคนซื้อไม่ได้

โฆษกของทางร้านอธิบายว่า จุดประสงค์ของการยื่นล้มละลายเพื่อฟื้นฟูกิจการ ก็เพื่อให้ได้รับเงินทุนเพิ่มเติมและทำให้กระบวนการขายกิจการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อรักษาสถานภาพแบรนด์เมื่อหาผู้ซื้อกิจการได้แล้ว

Brooks Brothers เปิดร้านแรกเมื่อปี 2361 แถบย่านวอลล์สตรีท จากนั้นก็เริ่มตัดสูทสำเร็จรูป แล้วพัฒนาเสื้อเชิ้ตมีกระดุม ก่อนขยายไลน์ไป รวมถึงเสื้อผ้าสไตล์แคชวล พุ่งเป้าคนรุ่นใหม่ แต่ยังยึดมั่นกับรูปแบบเดิมๆ ในการออกแบบเสื้อผ้า สวนทางกับคนรุ่นใหม่ที่มองหาเสื้อผ้าสไตล์ไม่เป็นทางการ

Brooks Brothers เป็นร้านชื่อดังร้านหนึ่งในจำนวนไม่มากนัก ที่ผลิตสินค้าทุกอย่างในสหรัฐ แต่เจ้าของร้านบอกว่าโรงงานไม่เคยทำกำไรได้เลย และมีแผนย้ายการผลิตบางส่วนไปต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน

นอกจากร้านขายสูทชื่อดังแล้ว ร้านอื่นก็เจอปัญหาเช่นกัน บริษัท Ascena Retail Group เจ้าของแบรนด์เครื่องแต่งกายสุภาพสตรี Ann Taylor กับ Lane Bryant ซึ่งเป็นเสื้อผ้าไซส์พิเศษ เปิดเผยว่า กำลังพิจารณาทุกทางเลือก หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากยอดขายเสื้อผ้า รวมถึงชุดทำงานที่ลดลง มีข่าวว่าบริษัทมีแผนปิดสาขากว่า 1,000 แห่ง จากทั้งหมด 2,800 แห่งในสหรัฐ แคนาดา และเปอร์โตริโก

ในทำนองเดียวกัน Men’s Wearhouse ก็เจอผลกระทบ หลังจากเพศชายตกงานกว่า 10 ล้านคน และทำงานที่บ้านอีกหลายล้านในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ทำให้ไม่มีกะจิตกะใจซื้อสูท

จริงๆ แล้วสไตล์การแต่งกายเปลี่ยนมาเป็นแบบไม่เป็นทางการมากนักหลายปีแล้ว เพราะนายจ้างในอุตสาหกรรมที่เคยเข้มงวดด้านการแต่งกาย อย่างภาคบริการการเงิน ผ่อนคลายวัฒนธรรมการทำงานเพื่อดึงคนทำงานฝีมือดีแข่งกับบริษัทเทคโนโลยี

ล่าสุด การระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ยุคของการแต่งกายอย่างเป็นทางการปิดฉากลงอย่างสิ้นเชิง สไตลิสต์คนหนึ่งในนิวยอร์ก ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงิน บอกว่าตอนนี้ลูกค้าพากันเน้นเสื้อผ้าสไตล์ลำลองที่สามารถรับแขกได้ โดยคำนึงถึงความสบายเป็นหลัก

ผลสำรวจในยุคของการทำงานที่บ้าน พบว่าบางคนยังอยู่ในชุดนอนด้วยซ้ำ บริษัทวิจัยเอ็นพีดีเปิดเผยผลการสำรวจความเห็นเมื่อเดือน มิ.ย. พบว่า 47% ของผู้บริโภคใส่ชุดเดียวตลอดวันตอนอยู่บ้านช่วงล็อกดาวน์ และเกือบ 1 ใน 4 แต่งตัวแนวสปอร์ต ชุดนอน หรือชุดอยู่บ้านแทบทั้งวัน

สไตลิสต์คนหนึ่งบอกว่า การแต่งตัวแบบแคชวลเป็นที่ยอมรับได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรไปไกลเกิน โดยเฉพาะตอนทำงานที่บ้านและต้องประชุมทางไกลผ่านจอภาพ เพราะควรดูเสื้อผ้าให้เหมาะสมด้วย

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News