การตอบโต้สงครามการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐ เกิดขึ้นอีกครั้งเป็นรอบที่ 4 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากจีนประกาศเก็บภาษีครั้งใหม่ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐ และทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีจีนอีกระลอก
โดย “สภาแห่งรัฐของจีน” แถลงว่า จีนจะเรียกเก็บภาษี 5-10% ต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐวงเงิน 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการเก็บภาษี 2 รอบ คือวันที่ 1 ก.ย. และ 15 ธ.ค. นอกจากนี้จีนยังเก็บภาษี 25% กับรถยนต์นำเข้าจากสหรํฐ และเก็บภาษี 5% กับชิ้นส่วนรถยนต์ของสหรัฐด้วย
ในวันเดียวกันหลังจากการแถลงจากฝั่งจีนจบ “ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ ก็ใช้ช่องทางทวิตเตอร์ ระบุว่าจะออกมาตรการตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีจากสินค้าจีน จาก 25% เป็น 30% โดยมีผลวันที่ 1 ต.ค. และเพิ่มอัตราภาษีใหม่ที่จะเริ่มเก็บในวันที่ 1 ก.ย. นี้ จากเดิม 10% เป็น 15% ทันที

ทรัมป์ กล่าวหาจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญา 3-5 แสนล้านดอลลาร์
นอกจากมาตรการตอบโต้ทางภาษี ทรัมป์ยังทวิตข้อความถึงบรรดาบริษัทอเมริกันในจีน ให้รีบถอนตัวออกจากจีนทันที เพื่อหาแหล่งผลิตใหม่ โดยให้กลับมาผลิตสินค้าในสหรัฐ โดยระบุว่า “ประเทศของเราได้สูญเสียเงินหลายล้านล้านดอลลาร์แก่จีนเป็นเวลาหลายปี พวกเขาได้ปล้นทรัพย์สินทางปัญญาของเราคิดเป็นเงินหลายแสนล้านดอลลาร์ต่อปี และพวกเขาต้องการทำสิ่งนี้ต่อไป แต่ผมจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องมีจีน และจะดีกว่า ถ้าไม่มีจีน โดยเงินจำนวนมากที่จีนขโมยไปจากสหรัฐปีแล้วปีเล่า เป็นเวลาหลายทศวรรษ จะต้องยุติลง”
และทรัมป์ยังใช้เวทีประชุมผู้นำ G7 ที่ฝรั่งเศส ประกาศความพร้อมในการเปิดสงคราการค้ากับจีน โดยกล่าวหาว่าจีนขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจากสหรัฐเป็นมูลค่า 3 – 5 แสนล้านดอลลาร์
สงครามการค้า อาจกดดันเศรษฐกิจโลก 3-5 ปี
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า การตอบโต้ด้วยการขึ้นกำแพงภาษีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาครั้งนี้ถือเป็นสงครามการค้ารอบที่สี่ จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นวงกว้างมากกว่าเดิม ประกอบกับประเด็นความขัดแย้งและการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพในฮ่องกงจะทำให้สงครามการค้ามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าโลกและนโยบายการค้าของสหรัฐฯทำให้คำสั่งซื้อเพื่อการส่งออกชะลอตัวลง ภาคธุรกิจชะลอแผนการการลงทุนระยะยาวโดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การเก็บภาษีล่าสุดจะกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปอีกอย่างน้อย 3-5 ปี โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะลดลงไม่ต่ำกว่า 0.5% และ เศรษฐกิจจีนลดลงไม่ต่ำกว่า 1%

การตั้งกำแพงภาษีตอบโต้กันรอบใหม่นี้จะทำให้ระบบการค้าโลกและเศรษฐกิจเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้นและแรงขึ้น อาจทำให้ภาคส่งออกไทยทั้งปีติดลบมากกว่า 3% และหักล้างสัญญาณอ่อนๆการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการลงทุนที่อาจกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงปลายปี
การขยายวงของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจะทำให้รายได้การท่องเที่ยวในช่วงปลายปีนี้ ไม่เป็นไปตามเป้าหมายอีกด้วย นักท่องเที่ยวต่างชาติอาจลดลงกว่าเป้าหมายประมาณ 2-3 แสนคน อุตสาหกรรมภายในจะได้รับผลกระทบจากการทุ่มตลาดของจีนมากขึ้น สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อห่วงโซ่อุปทานไทยที่ส่งสินค้าขั้นกลางไปจีน นักลงทุนจีนชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย
คาดสงครามการค้า ใกล้ถึงจุดอิ่มตัว
บล.เอเชียพลัส คาดการณ์ว่าสัญญาณสงครามการค้ารอบล่าสุด อาจบ่งชี้ว่าสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดเกือบจะถึงที่สุดแล้ว เพราะเป็นการตั้งกำแพงภาษีครอบคลุมมูลค่าการค้าระหว่างกันทั้งหมดแล้ว จากนี้ไปหากจะมีมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน ก็อาจเป็นเรื่องของการเพิ่มอัตราภาษีที่ผลกระทบไม่น่าจะมากเหมือนการประกาศตั้งกำแพงครั้งแรก หรือไม่ก็เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี ซึ่งไม่น่าจะมีมากนัก

ประเด็นเรื่องสงครามการค้าปะทุขึ้นมาอีกครั้ง จะกดดันสินทรัพย์เสี่ยง และโดยนักลงทุนจะหนีเข้าสินทรัพย์ปลอดภัย เป็นปัจจัยกดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้ปรับฐานรุนแรง เห็นได้จากตลาดหุ้นโลก อาทิ สหรัฐ ปรับฐานราว 2% และที่สำคัญคือ ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับฐานลงแรงในวันศุกร์ที่ผ่านมาเฉลี่ยราว 3.7%
ทั้งนี้ความกังวลสงครามการค้าทำให้ Fund Flow ไหลเข้าสูสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) เช่น ทองคำ และตราสารหนี้แทน ผลตอบแทนพันธบัตรทั่วโลกปรับลง ขณะที่ Dollar Index อ่อนค่า 0.54% สวนทางกับสกุลเงินบางสกุลที่แข็งค่า