ประเทศที่เคยเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีหลากหลายอย่าง รวมถึงเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดอย่างญี่ปุ่น กำลังตามหลังประเทศยักษ์ใหญ่อื่นๆ ในด้านการนำระบบชำระเงินอิเลกทรอนิกมาใช้ เพราะประชากรส่วนใหญ่ยังชื่นชอบการใช้เงินสด
การซื้อของ 4 ใน 5 ครั้งในญี่ปุ่น เป็นการซื้อของด้วยเงินสด ทั้งที่ญี่ปุ่นขึ้นชื่อด้านวิสัยทัศน์และนวัตกรรม ขณะที่ในเกาหลีใต้นั้น ธุรกรรมประมาณ 90% อยู่ในรูปดิจิทัล ด้านสวีเดนตั้งเป้าเป็นสังคมไร้เงินสดภายในปีต้นปี 2566 หรือในอีก 4 ปีข้างหน้า
แต่ในประเทศซึ่งอาชญากรรมอยู่ในระดับต่ำอย่างญี่ปุ่น ผู้คนรู้สึกปลอดภัยที่จะถือเงินสด และไม่ค่อยสนใจกระแสชำระเงินผ่านมือถือ
ที่ร้านซ่อมจักรยานแห่งหนึ่ง มีการเชื้อเชิญให้ลูกค้าชำระเงินผ่านมือถือด้วยระบบ PayPay ของซอฟต์แบงก์กรุ๊ปและยาฮูเจแปน ที่ใช้ QR โค้ดและสมาร์ทโฟน แต่มีคนใช้วิธีนี้แค่ 2-3 คน
เจ้าของร้านเล่าว่าวิถีของที่นี่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ลูกค้าจำนวนมากเป็นผู้สูงวัย ซึ่งคุยกันไปก็ควานหากระเป๋าตังค์ไป และไม่ได้ต้องการธุรกรรมอะไรที่รวดเร็ว
นักวิเคราะห์มองว่าในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้สูงอายุจำนวนมาก เพราะผู้มีวัยเกิน 65 ปีมีมากกว่า 28% นั้น เป็นการยากที่จะโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเห็นดีเห็นงามกับการใช้เทคโนโลยีใหม่ ดังนั้นประเด็นท้าทายจึงอยู่ที่การสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนให้เปลี่ยนนิสัยการชำระเงิน
เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งในประเทศที่มีตู้เอทีเอ็มมากกว่า 200,000 ตู้ และร้านค้าขนาดเล็กจำนวนมากรับเฉพาะเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนในการทำธุรกรรมจากบริษัทบัตรเครดิตและบริการชำระเงินอื่นๆ
นอกจากนั้น หลายคนยังไม่ไว้ใจวิธีการแบบอื่น หลังจากยักษ์ใหญ่ค้าปลีก Seven & I Holdings ถูกแฮคทันทีที่เปิดตัวระบบชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด จนทางบริษัทต้องยกเลิกไป
ทั้งนี้ ย้อนหลังไปเมื่อทศวรรษ 90 บริษัท Denso Wave ของญี่ปุ่น ได้พัฒนาคิวอาร์โค้ดอันแรกขึ้นมาใช้สำหรับคลังสินค้า จากนั้นได้มีการพัฒนาและดัดแปลงระบบเพื่อใช้รับชำระเงิน ต่อมา Sony ก็ได้พัฒนาไมโครชิพที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะและสำหรับชำระเงินปริมาณไม่มากนัก
ในเวลาต่อมาได้มีการใช้บัตรโดยสารอย่างแพร่หลายในกรุงโตเกียวและเมืองใหญ่อื่นๆ ซึ่งนอกจากสามารถซื้อตํ๋วรถไฟแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ได้จากตู้กดอัตโนมัติและร้านสะดวกซื้อ แต่เงินสดยังเป็นทางเลือกที่สะดวกในการจับจ่ายซื้อของอื่นๆ
ในช่วงที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ใกล้เข้ามา รัฐบาลหวังอาศัยช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก เพื่อเพิ่มปริมาณการชำระเงินทางอิเลกทรอนิกเป็น 40% ภายในปี 2568 ทั้งยังมีแผนเปิดตัวระบบสะสมแต้มผ่านการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการขึ้นภาษีอุปโภคบริโภคจาก 8% เป็น 10% ในเดือนต.ค.
ด้านบริษัทต่างๆ ก็พยายามส่งเสริมสังคมไร้เงินสด โดยร้านอาหารแห่งหนึ่งเสนอส่วนลด 10% สำหรับลูกค้าที่จ่ายเงินผ่านระบบ PayPay ซึ่งปรากฏว่ามีคนจำนวนมากสนใจ ชายวัย 54 ปีคนหนึ่งบอกว่ายิ่งมีการออกแคมเปญแบบนี้มากเท่าไร คนก็จะยิ่งหันไปใช้ระบบชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสดมากขึ้นเท่านั้น
ขณะที่ผู้บริหารของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Rakuten มั่นใจว่าอนาคตจะเดินหน้าไปสู่ระบบไร้เงินสด แม้แต่ในญี่ปุ่น เพราะวันหนึ่ง เงิน ไม่ว่าจะเป็นธบัตรหรือเหรียญ จะเป็นของล้าสมัยและเป็นของสะสมเหมือนแผ่นเสียง
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะก้าวไปถึงระดับดังกล่าว ต้องมีการปรับปรุงความดูแลความปลอดภัยเสียก่อน