“Barbie”ทำสถิติ หนังกำกับโดยผู้หญิง เปิดตัวรายได้สูงสุด
“Barbie” จากค่ายวอร์เนอร์ บราส์ (Warner Bros.) คว้าแชมป์หนังทำเงินในอเมริกาเหนือสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยรายได้ถล่มทลาย 155 ล้านดอลลาร์ และกวาดรายได้ทั่วโลก 377 ล้านดอลลาร์ ทำสถิติภาพยนตร์ที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุดในปีนี้ และทำสถิติใหม่เป็นภาพยนตร์ที่กำกับโดยผู้หญิงที่เปิดตัวด้วยรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์
ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Barbie คือเกรตา เกอร์วิก ก่อนหน้านี้ภาพยนตร์ของผู้กำกับหญิงที่ทำรายได้มากสุดในสหรัฐช่วงเปิดตัว คือเรื่อง Wonder Woman กำกับโดยแพทตี เจนกินส์ ซึ่งโกยรายได้ในสหรัฐ 38 ล้านดอลลาร์ ส่วนเรื่อง Captain Marvel ที่มีแอนนา โบเดน ร่วมกำกับด้วย กวาดรายได้ 62 ล้านดอลลาร์
หนังดังสองเรื่องที่เปิดตัวพร้อมกันช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ Barbie และ Oppenheimer ฉุดให้แฟนหนังควักกระเป๋าเงินไปตีตั๋วเข้าชม พร้อมสร้างความหวังใหม่ให้แก่บรรดาผู้สร้างหนังฮอลลีวูด หลังจากเผชิญภาวะซบเซาจากการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ผู้ชมส่วนใหญ่หรือ 65%ของ Barbie เป็นผู้หญิง และ 40% อายุต่ำกว่า 25 ปี ขณะที่ผู้ชม 62% ของ Oppenheimer เป็นผู้ชาย และ 63% อายุเกิน 25 ปี
แบรนด์กว่าร้อยแห่ออกคอลเลกชัน รับความปัง”บาร์บี้”
แบรนด์กว่าร้อยแบรนด์ในสหรัฐใช้โอกาสการเปิดตัวภาพยนตร์เรื่องบาร์บี้ ในการหารายได้เพิ่ม โดยภาพยนตร์ชื่อดังเรื่องนี้ได้จุดประกายความหลงไหลคลั่งไคล้ในจักรวาลแห่งตุ๊กตาสาวที่เต็มไปด้วยสีชมพูเจิดจรัส
การทำการตลาดในธีมสีชมพู ทำให้ที่นั่งรอรถตามป้ายรถประจำทางเต็มไปด้วยสีชมพู ทั้งยังมีการออกเสื้อผ้าคอลเลกชั่นสีชมพู และบริษัทไมโครซอฟท์ก็ร่วมธีมนี้ ด้วยการจัดทำหน้ากากจอยคอนโทรลเลอร์ Xbox และ Xbox Series S ลายบาร์บี้ ขณะที่ร้านอาหารทั่วสหรัฐนำเสนอคอกเทลสุดพิเศษสีชมพู พร้อมตกแต่งร้านด้วยธีมชมพู
ผู้เชี่ยวชาญบางคนระบุว่า การที่แบรนด์และร้านค้าต่างๆ พากันโหนกระแสบาร์บี้ นับเป็นเรื่องดีสำหรับแบรนด์ที่มีอายุ 64 ปี เพราะช่วยดึงดูดแฟนในทุกวัย
ขณะที่บริษัทแมทเทล ผู้เป็นเจ้าของบาร์บี้ ตั้งเป้าว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยฟื้นคืนเสน่ห์อันน่าดึงดูดใจของตุ๊กตาบาร์บี้ ไปพร้อมๆ กับการประทับความชื่นชอบบาร์บี้ไว้ในจิตใจของคนรุ่นใหม่
รัฐมนตรีอินโดฯเตรียมพบ”อีลอน มัสก์” หาข้อสรุปตั้งโรงงานผลิตรถ
ลูฮัต บินซาร์ ปันด์ไจตัน รัฐมนตรีประสานงานการลงทุนอินโดนีเซีย มีกำหนดพบปะกับอีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเทสลา เพื่อสอบถามความคืบหน้าและหาข้อสรุปเกี่ยวกับการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย หลังจากมีข่าวลือว่าเทสลาสนใจที่จะลงทุนในมาเลเซีย
ลูฮัตระบุเมื่อช่วงต้นปีนี้ ว่ารัฐบาลกำลังเจรจากับเทสลาเกี่ยวกับการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซีย ด้วยกำลังการผลิต 1 ล้านคันต่อปี
ขณะนี้ เทสลามีโรงงานผลิตรถยนต์อยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของเทสลา รวมทั้งมีโรงงาน 3 แห่งในสหรัฐ, 1 แห่งในเยอรมนี และมีแผนตั้งโรงงานอีก 1 แห่งในเม็กซิโก
ขณะที่มัสก์เปิดเผยเมื่อเดือนพ.ย.2565 ว่าเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้รับเลือกให้มีการตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของเทสลา
“ติ๊กต๊อก” รุกธุรกิจสตรีมมิ่งเพลง ท้าชน “สปอติฟาย-แอปเปิล มิวสิก”
ติ๊กต๊อกเปิดตัวบริการสตรีมมิ่งเพลง “ติ๊กต๊อก มิวสิก” (TikTok Music) ในอินโดนีเซียและบราซิลเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ จากนั้นจะทดสอบบริการในออสเตรเลีย เม็กซิโก และสิงคโปร์ โดยจะเข้ามาเป็นคู่แข่งกับเจ้าตลาดเดิมอย่างสปอติฟายและแอปเปิล มิวสิก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่งเพลงรายใหญ่ เนื่องจากติ๊กต๊อกพยายามหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ
ทั้งนี้ อินโดนีเซียและบราซิลเป็นตลาดใหญ่อันดับสองและสามของติ๊กต๊อก ตามหลังเพียงสหรัฐ ด้วยจำนวนผู้ใช้งานอายุ 18 ปีขึ้นไปถึง 113 ล้านรายและ 84.1 ล้านราย ส่วนเม็กซิโกเป็นตลาดใหญ่อันดับสี่ของติ๊กต๊อกด้วยจำนวนผู้ใช้งาน 62.4 ล้านราย
นักวิเคราะห์มองว่า ติ๊กต๊อกมีข้อได้เปรียบหลายประการที่ธุรกิจสตรีมมิ่งเพลงรายอื่นไม่มีและปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ติ๊กต๊อกสามารถช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดได้ โดยติ๊กต๊อกมีฐานผู้ใช้งานขนาดใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งผู้ใช้งานเหล่านี้สามารถกลายมาเป็นผู้ใช้บริการติ๊กต๊อก มิวสิกได้
จีนส่งสัญญาณฟื้นฟูภาคอสังหาฯ สร้างเสถียรภาพจ้างงาน
ที่ประชุมคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ซึ่งนำโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ส่งสัญญาณใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ พร้อมให้คำมั่นว่าจะปรับนโยบายต่างๆ อย่างเหมาะสมเพื่อฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะเดียวกันก็จะเร่งสร้างเสถียรภาพการจ้างงาน ควบคู่ไปกับการกระตุ้นอุปสงค์การอุปโภคบริโภค และแก้ไขปัญหาหนี้สินรัฐบาลท้องถิ่น
โดยปกติแล้วการประชุมโปลิตบูโรประจำเดือนก.ค. มักกำหนดแนวทางนโยบายเศรษฐกิจสำหรับช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตลาดรอคอยเพื่อเป็นแนวทางว่านโยบายจีนจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้หรือไม่
ที่ประชุมโปลิตบูโรระบุว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญความยากลำบากและความท้าทายใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นผลจากอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ รวมทั้งสถานการณ์ที่ยากลำบากในการดำเนินกิจการของภาคเอกชน, ความเสี่ยงหลายด้าน รวมถึงสภาพแวดล้อมในต่างประเทศที่ซบเซา