จีนเตรียมไฟเขียวฟรีวีซ่าสิงคโปร์-บรูไน
รัฐบาลจีนเตรียมรื้อฟื้นนโยบายเดินทางปลอดวีซ่า 15 วันสำหรับพลเมืองสิงคโปร์และบรูไน ตั้งแต่วันพุธ (26 ก.ค.) เป็นต้นไป หลังจากยุตินโยบายดังกล่าวไปนานกว่า 3 ปีเนื่องจากการระบาดของโควิด-19
สถานทูตจีนประจำสิงคโปร์และบรูไนเปิดเผยผ่านเว็บไซต์ว่า นโยบายดังกล่าวอนุญาตให้พลเมืองสิงคโปร์และบรูไนที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดา สามารถเข้าประเทศจีนเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ การท่องเที่ยว เยี่ยมครอบครัว และเดินทางผ่านได้
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศสิงคโปร์ระบุว่า การกลับมาดำเนินนโยบายดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้คนและธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศ
กว่า 60% ของประชากรโลก ใช้โซเชียลมีเดีย
เคพิออส บริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัล เผยรายงานล่าสุดว่าประชากรโลกกว่า 5,000 ล้านคน หรือกว่า 60% ใช้งานโซเชียลมีเดีย เพิ่มขึ้น 3.7% จากเมื่อปีที่แล้ว
ตัวเลขผู้ใช้โซเชียลมีเดียแตกต่างกันมากในแต่ละภูมิภาค อย่างในแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกากลาง ประชากรใช้สื่อสังคมออนไลน์เพียง 1 คนในทุกๆ 11 คน ส่วนในอินเดียที่ขณะนี้มีประชากรมากที่สุดในโลก ตัวเลขผู้ใช้โซเชียลมีเดียอยู่ที่ 1 คนในทุกๆ 3 คน
สำหรับเวลาที่อยู่กับโซเชียลมีเดียก็เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 2 ชั่วโมง 26 นาที และแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อย่างบราซิล คนใช้สื่อโซเชียลเฉลี่ยวันละ 3 ชั่วโมง 49 นาที ในขณะที่ญี่ปุ่นวันละไม่ถึง 1 ชั่วโมง
ผู้ใช้โซเชียลมีเดียโดยเฉลี่ยจะอยู่กับ 7 แพลตฟอร์ม โดยเป็นแอปของเมตา 3 แอป ได้แก่ วอทส์แอป อินสตาแกรม และเฟซบุ๊ก แอปของจีน 3 แอป ได้แก่ วีแช็ต ติ๊กต็อก และโต่วอิน ซึ่งเป็นติ๊กต็อกเวอร์ชั่นจีน นอกจากนั้นเป็นทวิตเตอร์ เมสเซนเจอร์ และเทเลแกรม
“อีลอน มัสก์” จ่อเปลี่ยนโลโก้ทวิตเตอร์
อีลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ ทวีตข้อความว่าต้องการเปลี่ยนโลโก้ทวิตเตอร์ และสำรวจความเห็นผู้ติดตามหลายล้านคน ว่าอยากให้เปลี่ยนสีหลักของทวิตเตอร์จากสีฟ้าเป็นสีดำหรือไม่ พร้อมโพสต์รูปอักษรตัว X บนพื้นดำ
ก่อนหน้านี้ มัสก์เคยเปิดเผยเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ภายหลังการประกาศเดินหน้าซื้อทวิตเตอร์ ว่าการซื้อทวิตเตอร์คือการ “เร่งสร้างเอ็กซ์ (X) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ทำได้ทุกอย่าง” ขณะที่ทวิตเตอร์นั้นไปเปลี่ยนชื่อทางธุรกิจเป็น X Corp ไปแล้ว อันสะท้อนวิสัยทัศน์ของมัสก์ที่จะสร้างซูเปอร์แอปอย่างวีแชทของจีน
การเคลื่อนไหวของมัสก์มีขึ้น หลังจากยอมรับว่ารายได้จากโฆษณาของทวิตเตอร์ยังอยู่ที่ระดับเกือบครึ่งหนึ่งจากที่เคยได้รับ และกระแสเงินสดยังติดลบ
อินเดียปฏิเสธข้อเสนอ BYD ตั้งโรงงานรถไฟฟ้า
สื่ออินเดียรายงานว่า อินเดียปฏิเสธข้อเสนอของผู้ผลิตรถสัญชาติจีน BYD ที่จะเข้าไปตั้งโรงงานมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในอินเดียกับบริษัทหุ้นส่วนอินเดีย โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าวิตกด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการลงทุนของจีนในอินเดีย
เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ มีรายงานข่าวว่า BYD ได้ยื่นข้อเสนอลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อผลิตรถไฟฟ้าและแบตเตอรีในอินเดีย โดยเป็นหุ้นส่วนกับบริษัทอินเดีย ภายใต้เป้าหมายของ BYD ที่จะมีส่วนแบ่ง 40% ในตลาดรถไฟฟ้าของอินเดียภายในปี 2573 แต่ข้อเสนอลงทุนครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่อินเดียกำลังจับตาบริษัทจีนมากขึ้น
ก่อนหน้านี้บริษัทเกรท วอลล์ มอเตอร์ ซึ่งมีแผนลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ในอินเดีย ก็ล้มเหลวในความพยายามซื้อโรงงานเช่นกัน หลังจากไม่ได้รับการอนุมัติจากทางการ
จีนเผยมาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน
คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของจีน เผยแผนการที่เน้นความสำคัญของการลงทุนโดยบริษัทเอกชน หลังจากพรรคอมมิวนิสต์และรัฐบาลรับปากจะปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจ โดยคณะกรรมการพัฒนาฯระบุว่ารัฐบาลจะเดินหน้ารักษาการมีส่วนแบ่งของการลงทุนภาคเอกชนในการลงทุนทรัพย์สินคงที่
ภาคสำคัญๆ ที่ทางการสนับสนุนให้เอกชนลงทุน รวมถึงการขนส่ง พลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐานใหม่ การผลิตที่ทันสมัย และการเกษตรสมัยใหม่ อันนับเป็นความพยายามล่าสุดของจีนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากการลงทุนภาคเอกชนหดตัวในปีนี้ เพราะธุรกิจต่างๆ เผชิญการควบคุมช่วงโควิดระบาด อีกทั้งภาคธุรกิจอย่างอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยียังเผชิญกฎระเบียบที่เข้มงวดจากทางการในช่วงที่ผ่านมา
บรรดาผู้นำภาครัฐได้พบปะกับผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจ รวมถึงกองทุนระดับโลกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีสำหรับการลงทุน