ขยะทุกวันนี้มีปริมาณมหาศาล จนบางคนอาจกลัวว่าจะล้นโลก ธนาคารโลกมีตัวเลขที่ระบุว่าแต่ละปีชุมชนทั่วโลกทิ้งขยะมูลฝอยกันถึง 2,000 ล้านตัน หรือลองหลับตานึกภาพว่าแต่ละวันมีขยะกองโตเป็นภูเขาเลากา มหึมาประมาณปิรามิดนั่นเลยทีเดียว
เมืองใหญ่หลายเมืองพยายามรับมือกับปัญหานี้ และหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อกำจัดขยะอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุน
Allied Market Research ระบุว่า สิ่งนี้ส่งผลต่อเนื่องให้ตลาดการบริหารจัดการขยะทั่วโลก เฟื่องฟูขึ้นมาก และคาดว่าจะมีมูลค่า 530,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 15,000,000 ล้านบาท ภายในปี 2568 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า จากเมื่อปี 2560 ที่มีมูลค่า 331,000 ล้านดอลลาร์
ผู้บริหารกลุ่ม C40 Cities ซึ่งมุ่งมั่นแก้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ระบุว่าหากบรรดาเมืองใหญ่ลงมือแก้ปัญหาขยะตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะไม่เจอกับผลพวงร้ายแรงระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขยะอุดตันท่อ, น้ำท่วม และการระบาดของโรคที่มากับน้ำ นอกจากนั้น หากนำขยะไปกองถมๆ กันไว้โดยไม่มีอากาศช่วยในกระบวนการย่อยสลายภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็จะก่อให้เกิดก๊าซมีเทน อันจะยิ่งทำให้โลกร้อน
เมื่อเร็วๆ นี้ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ได้เปิดโรงไฟฟ้า Copenhill ที่ใช้นวัตกรรมของการนำขยะไปแปลงเป็นพลังงาน หลังคาของโรงไฟฟ้ายังตกแต่งเป็นลานสกีอีกต่างหาก ในแต่ละปีโรงงานแห่งนี้สามารถนำขยะ 450,000 ตันไปแปลงให้เป็นพลังงาน และจ่ายไฟให้แก่ครัวเรือน 30,000 ครัวเรือน
แม้โรงงานแห่งนี้ยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาขยะ แต่ทางเมืองมีแผนติดตั้งระบบเพื่อจับก๊าซคาร์บอนในกระบวนการเผาไหม้ และนำไปเก็บหรือใช้ในเชิงพาณิชย์
นายกเทศมนตรีกรุงโคเปนเฮเกน บอกว่า แทนที่จะนำขยะไปเททิ้ง ถมๆ กันไว้ ทางเมืองนำขยะมาเป็นพลังงานเพื่อให้ความร้อนและไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเผาไหม้ขยะอย่างมีประสิทธิภาพช่วยให้เกิดพลังงานที่สามารถนำไปใช้กับเครื่องทำความร้อนให้แก่อาคารในเมืองหลวงได้ถึง 99% และเท่ากับเป็นการขจัดมลพิษจากการใช้ถ่านหินหรือน้ำมันด้วย
นอกจากนั้น การเคลื่อนไหวนี้ยังจะช่วยหนุนให้กรุงโคเปนเฮเกน บรรลุเป้าหมายของการเป็นเมืองที่เป็นกลางทางคาร์บอน คือปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับศูนย์ เป็นเมืองแรกของโลก ภายในปี 2568
เมืองอื่นอย่างแอดดิสอาบาบาของเอธิโอเปีย เซินเจิ้นในจีน และกรุงฮานอยของเวียดนาม ก็กำลังทดลองแนวคิดของการนำขยะมาแปลงเป็นพลังงานเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกลุ่ม C40 Cities เตือนว่าเทคโนโลยีนี้มีข้อจำกัด เพราะเมืองใดก็ตามที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ ต้องมีสาธารณูปโภคและระบบเก็บขยะที่ดี จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่จากการนำขยะไปเป็นพลังงาน ขณะที่หากเมืองใดมีระบบบริหารขยะที่ย่ำแย่ เทคโนโลยีแบบไหนก็ไม่สามารถช่วยได้
สำหรับเมืองอื่นๆ ก็พยายามนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์หรือระบบอัตโนมัติเพื่อแยกขยะ และดูว่าชิ้นไหนสามารถนำมารีไซเคิลได้ หรือใช้เซนเซอร์เพื่อลดปริมาณขยะในขั้นตอนสุดท้าย
อย่างกรณีของสิงคโปร์และกรุงโซลในเกาหลีใต้ ที่ติดตั้งถังขยะอัจฉริยะพลังแสงอาทิตย์ไว้ตามข้างถนน แต่ละถังมีเครื่องบดอัด ทำให้สามารถรองรับขยะได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อขยะเต็มถังแล้ว เซนเซอร์จะแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่เก็บขยะ
สหประชาชาติคาดว่าภายในปี 2593 ประชากรโลก 68% จะอาศัยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อันจะทำให้สาธารณูปโภคต่างๆ ต้องรับบทหนัก
ปกติแล้ว เมืองใหญ่ๆ จะส่งรถบรรทุกไปเก็บขยะแยกตามประเภท อย่างรถคันนี้ไปเก็บพลาสติกเพื่อมารีไซเคิล รถอีกคันไปเก็บขยะเศษอาหาร ซึ่งการทำเช่นนี้ต้องใช้รถหลายคัน อันหมายถึงค่าใช้จ่ายและยังทำให้มีปริมาณการจราจรมากขึ้นบนถนน
ถนนในหลายเมืองของยุโรป ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ดังนั้นจึงมีพื้นที่ไม่มากนักสำหรับรถขยะหลายคัน
กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ออกแบบโมเดลเพื่อแก้ปัญหานี้ ด้วยการให้ชาวเมืองทิ้งขยะต่างประเภทกันในถุงต่างสีกัน รถขยะจะมาเก็บขยะเหล่านี้คราวเดียวกัน แต่นำไปส่งยังจุดหมายต่างกันตามประเภทของขยะ
ถุงสีเขียวที่ใส่เศษอาหาร และถุงสีน้ำเงินที่เป็นขยะพลาสติก จะถูกแยกจากขยะอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีตรวจจับสีถุง ซึ่งมีความแม่นยำถึง 98%
ทางการกรุงออสโลบอกว่าการแยกขยะ และการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เพราะปริมาณขยะจากแต่ละครัวเรือนลดลง ส่วนขยะที่สามารถนำมาใช้ซ้ำและรีไซเคิลก็เพิ่มขึ้น โดยขยะที่รีไซเคิลเพิ่มเป็น 37% เมื่อปี 2561 จาก 10% เมื่อปี 2547