หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% – 2.00% ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ 7-3 ซึ่งหากไล่เช็คการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินหลังมติลดดอกเบี้ยของเฟดออกมา จะพบว่ามีหลายประเทศที่มีการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 19 กันยายน
- (อ่านข่าว >> เฟดเสียงแตกลดดอกเบี้ย 0.25% ตามตลาดคาดการณ์)
- (อ่านข่าว >> “ทรัมป์” ยังไม่พอใจ แม้เฟดลดดอกเบี้ยแล้ว)
โดยทาง “Business Today” ได้รวบรวมมาให้ว่าในเวลา 24 ชั่วโมงหลังจาก “เฟด” ลดดอกเบี้ย มีธนาคารกลางประเทศไหนบ้าง ลดดอกเบี้ยตาม?

“ฮ่องกง-บราซิล” ลดดอกเบี้ยตามเฟด
“ธนาคารกลางฮ่องกง (HKMA)” ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่ระดับ 2.25% ในวันนี้ หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25%
โดยนักวิเคราะห์มองว่านโยบายการเงินของฮ่องกงมีความสอดคล้องกับนโยบายการเงินของเฟด เนื่องจากดอลลาร์ฮ่องกงผูกติดกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบในทันทีต่อต้นทุนสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจและครัวเรือน
ด้าน “คณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางบราซิล (Copom)” มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Selic) ลง0.50% สู่ระดับ 5.5% จากระดับ 6% โดยในปีนี้ ธนาคารกลางบราซิลได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงโดยรวม 1% จนขณะนี้อัตราดอกเบี้ยได้ถูกปรับลดลงสู่ระดับ 5.5% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ธนาคารกลางบราซิลเปิดเผยว่า นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินต่างๆ ในบราซิลได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับลดลงอีกในปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 5% และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะทรงตัวที่ระดับดังกล่าวในปี 2563
“ญี่ปุ่น – อังกฤษ – สวิตเซอร์แลนด์” คงดอกเบี้ย
“ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)” มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในการประชุมวันนี้ โดยมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราดอกเบี้ยระยะยาวไว้ใกล้ระดับศูนย์ นอกจากนี้ ยังได้คงขนาดโครงการซื้อสินทรัพย์
แม้เผชิญแรงกดดันให้ดำเนินนโยบายตามธนาคารกลางของประเทศอื่นๆที่พากันผ่อนคลายการเงินเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน
ส่วน “ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE)” จัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงินในวันนี้ โดย BoE มีมติเอกฉันท์ 9-0 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% ตามการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ท่ามกลางความเสี่ยงที่อังกฤษอาจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีการทำข้อตกลง (no-deal Brexit)
ขณะที่ “ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์” มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.75% ในการประชุมวันนี้
คาด “กนง” คงดอกเบี้ย
ส่วนการประชุม “คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)” ของไทย จะมีขึ้นในวันที่ 25 กันยายน 2562 ซึ่งการประชุมนโยบายการเงินครั้งที่ 6 ของปี 2562
“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” คาดว่า “คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)” ของไทยน่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% โดยเชื่อว่า กนง.คงจะประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คำนึงถึงปัจจัยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และพัฒนาการปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ หากปัจจัยเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากคาดการณ์ กนง. คงมีการทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป