“ยูบีเอส”ซื้อ”เครดิต สวิส”หวังสกัดวิกฤติธนาคาร
ยูบีเอส ซึ่งเป็นธนาคารรายใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์ ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ในวงเงิน 3 พันล้านฟรังก์สวิส โดยหน่วยงานฝ่ายกำกับดูแลด้านการเงินของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ได้เข้ามามีส่วนในการทำข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์นี้
การซื้อกิจการเกิดขึ้นภายใต้การดำเนินงานร่วมกันระหว่างธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ และหน่วยงานกำกับดูแลตลาดการเงิน โดยธนาคารกลางให้คำมั่นจะจัดสรรเงินกู้ 1 แสนล้านฟรังก์ เพื่อสนับสนุนการเทกโอเวอร์กิจการ ขณะที่รัฐบาลอนุมัติเงินค้ำประกัน 9 พันล้านดอลลาร์ เพื่อลดความเสี่ยงให้กับยูบีเอส
ประธานธนาคารกลางระบุว่า การที่ยูบีเอสตัดสินใจเทกโอเวอร์กิจการเครดิต สวิส ถือเป็นทางออกในการสร้างเสถียรภาพการเงินและช่วยปกป้องเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์ในวิกฤตการณ์นี้ เนื่องจากเครดิต สวิส เป็นธนาคารที่มีความสำคัญในเชิงระบบ
ด้านยูบีเอสระบุว่า ธนาคารที่ผ่านการควบรวมกิจการ จะมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 5 ล้านล้านดอลลาร์ และภายใต้ข้อตกลงนั้น กลุ่มผู้ถือหุ้นของเครดิต สวิสจะได้รับหุ้นของยูบีเอสจำนวน 1 หุ้นต่อหุ้นเครดิต สวิส ทุกๆ 22.48 หุ้นที่ถือครองอยู่
คลังสวิสชี้ยูบีเอสซื้อเครดิตสวิส ไม่ใช่การอุ้มกิจการ
นางแคริน เคลเลอร์-ซุตเทอร์ รัฐมนตรีคลังสวิตเซอร์แลนด์ ชี้แจงกรณีธนาคารยูบีเอสเข้าซื้อกิจการธนาคารเครดิต สวิส ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ว่าไม่ใช่การอุ้มกิจการ แต่ถือเป็นทางออกในเชิงธุรกิจ และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เพราะเครดิต สวิสมีความสำคัญในเชิงระบบ หากล้มละลายจะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งต่อตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์และตลาดการเงินทั่วโลก
นางเคลเลอร์-ซุตเทอร์กล่าวว่า ได้ติดต่อกับหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษและสหรัฐ ซึ่งต่างขานรับข่าวยูบีเอสซื้อกิจการเครดิต สวิส เนื่องจากทั่วโลกกังวลว่าการล้มละลายของเครดิต สวิสจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบการเงินโลก
“เครดิต สวิส” เดินหน้าจ่ายโบนัส
เครดิต สวิส กรุ๊ป แจ้งต่อพนักงานว่า จะจ่ายโบนัสและขึ้นเงินเดือนให้ตามที่สัญญาไว้ ขณะพยายามดำเนินธุรกิจตามปกติ หลังจากสัปดาห์ที่ปั่นป่วนสิ้นสุดลงด้วยการที่ยูบีเอสเข้าซื้อเครดิต สวิส
ทั้งนี้ เครดิต สวิสได้จ่ายโบนัสให้พนักงานในหลายประเทศแล้วและไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงแผนการจ่ายเงินโบนัสในประเทศที่เหลือ
ขณะเดียวกัน มีข่าวว่า เครดิต สวิสวางแผนปลดพนักงานประมาณ 9,000 ตำแหน่ง ภายใต้ความพยายามกอบกู้ธุรกิจ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเจรจาเรื่องเข้าซื้อกิจการ
“แฟลกสตาร์แบงก์” ซื้อสินทรัพย์ซิกเนเจอร์แบงก์
แฟลกสตาร์ แบงก์ ซึ่งเป็นธนาคารในเครือนิวยอร์ก คอมมูนิตี้ บันคอร์ป บรรลุข้อตกลงกับหน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐ เพื่อเข้าซื้อสินทรัพย์ซึ่งประกอบด้วยเงินฝากและเงินกู้ ของธนาคารซิกเนเจอร์ แบงก์ ซึ่งถูกสั่งปิดกิจการในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้แฟลกสตาร์ แบงก์ สามารถรับช่วงการดำเนินการเงินฝากและเงินกู้ทั้งหมดในพอร์ท รวมทั้งสาขาธนาคารทั้ง 40 แห่งของซิกเนเจอร์ แบงก์ และสาขาเหล่านี้จะยังดำเนินงานตามปกติ ส่วนเงินกู้มูลค่าเกือบ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ และเงินฝากมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ของซิกเนเจอร์แบงก์ จะยังอยู่ภายใต้มาตรการพิทักษ์ทรัพย์ของรัฐบาล
เฟซบุ๊กเปิดบริการสมาชิกแบบเสียเงินในสหรัฐ
เมตา ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม เปิดตัวบริการสมาชิกแบบเสียเงินในสหรัฐ โดยผู้ใช้สามารถจ่ายค่าบริการรายเดือนเพื่อยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขประจำตัวที่ออกโดยรัฐบาลสหรัฐ และจะได้รับป้ายสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายถูกสีขาวบนพื้นหลังสีฟ้า มีการคิดค่าบริการ 11.99 ดอลลาร์ หรือประมาณ 409 บาทต่อเดือน สำหรับการใช้งานผ่านเว็บไซต์ ส่วนการใช้งานบนระบบไอโอเอสของแอปเปิล และในระบบแอนดรอยด์ของกูเกิล มีค่าบริการ 14.99 ดอลลาร์ ซึ่งตกที่ประมาณ 511 บาทต่อเดือน
สหรัฐนับเป็นประเทศที่ 3 ที่เมตาเปิดให้บริการสมาชิกแบบยืนยันตัวตน ต่อจากออสเตรเลีย กับนิวซีแลนด์