ปัจจุบันมีการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลและงานแทบทุกด้านของธุรกิจต่างๆ
ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศชี้ว่าหากไม่มีการตรวจสอบข้อมูลที่ AI นำไปใช้ อาจเปิดช่องโหว่ให้แฮกเกอร์หรืออาชญากรเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากอัลกอริทึมในระบบได้ จากการศึกษาพบว่าบรรดาแฮกเกอร์มีวิธีหลอกระบบ AI ให้ทำงานผิดพลาดโดยตั้งใจได้ เช่น การหลอกระบบ AI ในยานยนต์ไร้คนขับให้ฝ่าฝืนสัญญาณไฟเป็นต้น
ข้อมูลถือเสมือนเลือดที่หล่อเลี้ยงการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์และยิ่งนักพัฒนาระบบให้ความใส่ใจกับการพัฒนาเทคนิคหรือวิธีการสอนคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้จากข้อมูลได้มากเท่าไรก็ยิ่งจำเป็นต้องใส่ใจกับข้อมูลที่ป้อนเข้าไปให้กับคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน
แฮกเกอร์มีวิธีการทำลายหรือป่วนข้อมูล (data poisoning) โดยการป้อนข้อมูลป่วนเข้าไปในอัลกอริทึมเพื่อทำให้โมเดลเรียนรู้ในสิ่งที่ผิด เพื่อทำให้เกิดช่องโหว่ในการเข้าโจมตีระบบหรือขโมยข้อมูลในอนาคต ลดประสิทธิภาพในการทำงานของระบบ หรือเพื่อทำให้ระบบใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้แฮกเกอร์อาจใช้ข้อมูลหลอกเพื่อดึงดูดความสนใจจากแพลตฟอร์มตรวจสอบดูแล และอาจใช้ซอฟต์แวร์อัตโนมัติที่ส่งสัญญาณรบกวนเพื่อกลบเกลื่อนปิดบังการเข้าโจมตีอัลกอริทึมของระบบที่แท้จริง
ประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับ AI ในปัจจุบันคือการนำ AI มาใช้ในภาคการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล อัลกอริทึมของระบบการซื้อขายแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความน่ากังวลของการทำลายข้อมูลและการนำข้อมูลการซื้อขายไปใช้ในทางที่ผิด
การโจมตีทางไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยิ่งทำให้ความปลอดภัยในการใช้ AI กลายเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น ดังนั้น การตรวจสอบคุณภาพของข้อมูล และการพัฒนา AI ให้มีมาตรฐานความแม่นยำ มีความปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับทุกธุรกิจที่ต้องพึ่งพา AI ในการดำเนินงาน