รัฐสภาอังกฤษเปิดประชุมโหวตชี้ชะตา Brexit ฉบับใหม่วันเสาร์นี้ ถือเป็นการเริ่มต้นนับถอยหลังในช่วงเวลาที่เหลืออีกเพียง 13 วันว่าอังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรปแบบมีข้อตกลงหรือไม่มีข้อตกลงในวันที่ 31 ตุลาคมนี้
หลังจากที่อังกฤษกับสหภาพยุโรป (EU) สามารถทำข้อตกลง Brexit ได้เมื่อวันพฤหัสฯที่ 17 ตุลาคม ในช่วงเวลา 2-3 ชั่วโมงก่อนหน้าการประชุมซัมมิตของผู้นำ EU ทั้ง 27 ประเทศจะมีขึ้นในกรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม
ทั้งนี้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และฌอง-คล็อด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เปิดแถลงข่าวร่วมกันที่สำนักงานใหญ่ของ EU ถึงการทำตกลงทำข้อตกลงใหม่ใน Brexit ได้สำเร็จลุล่วงแล้ว โดยที่ข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่จะไม่มีประเด็นเรื่อง Back-Stop บรรจุไว้
โดยบอริส จอห์นสัน ได้ทวีตเปิดเผยถึงการบรรลุข้อตกลง Brexit ใหม่นี้ ถือเป็นเรื่องที่เยี่ยมยอดในประเด็นทางกฎหมายที่ต้องได้รับการอนุมัติทั้งจากรัฐสภาอังกฤษและรัฐสภายุโรป
แต่ก็ยังมีข้อสงสัยกันเป็นอย่างมากว่า ข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่นี้จะสามารถผ่านการอนุมัติของรัฐสภาของอังกฤษได้สำเร็จในวันเสาร์นี้หรือไม่ โดยพรรคสหภาพประชาธิปไตยแห่งไอร์แลนด์เหนือ (DUP) ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ออกมาระบุว่า จะไม่โหวตสนับสนุนข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่นี้ได้
ขณะที่จาค็อบ รีสมอกก์ ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในสภาผู้แทนราษฎรอังกฤษ ชี้ว่า บอริส จอห์นสัน จะทำการแถลงต่อรัฐสภาในวันเสาร์นี้ ก่อนที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มอภิปรายว่าจะให้การรับรองข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่นี้ หรือจะออกจาก EU อย่างไม่มีข้อตกลง
ทางด้านฌอง-คล็อด จุงเกอร์ กล่าวเกี่ยวกับความมุ่งมั่นในการที่จะทำข้อตกลง Brexit ได้สำเร็จ โดยเป็นข้อตกลงที่ยุติธรรมและมีความสมดุลสำหรับ EU และอังกฤษ
เพื่อจะเป็นข้อพิสูจน์ในความสัมพันธ์ที่จะแสวงหาหนทางแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมสำหรับการทำให้กระบวนการถอนตัวจาก EU นี้เสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ โดยสามารถเดินหน้ากันต่อไป สู่การเจรจาว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เจเรมี คอร์บิน ผู้นำของพรรคแรงงานอังกฤษ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านในสภาอังกฤษ ยังคงแสดงถึงความไม่พอใจกับข้อตกลง Brexit ใหม่นี้ พร้อมยืนยันโหวตคัดค้านในการประชุมสภาวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคมนี้ ถึงแม้ว่า ข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่จะไม่มีประเด็นเรื่อง Back-Stop บรรจุเอาไว้
หากมองย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นับจากการที่อังกฤษได้มีการลงประชามติเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 เห็นชอบให้อังกฤษถอนตัวออกจาก EU ด้วยเสียงของประชาชนจำนวน 52%
ตลอดช่วงเวลา 3 ปีภายใต้กระบวนการเจรจาข้อตกลง Brexit ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องประสบกับความยุ่งยาก จากปัญหาอุปสรรคทางการเมืองในสมัยที่เทเรซา เมย์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนต้องลาออกจากตำแหน่งเมื่อต้องแพ้โหวต โดยไม่สามารถนำพาร่างข้อตกลง Brexit นั้นผ่านการรับรองของรัฐสภาอังกฤษได้ถึง 3 รอบ
ถึงแม้ว่า EU และอังกฤษได้มีข้อตกลง Brexit มาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ยังคงเป็นปัญหาอุปสรรค ซึ่งในที่สุดบอริส จอห์นสัน เตรียมนำข้อตกลง Brexit ฉบับใหม่กับ EU อีกครั้งเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม เข้าสู่สภาอีกครั้งในวันเสาร์นี้ ก่อนที่จะต้องนับถอยหลังจนถึงวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่อังกฤษต้องออกจาก EUแย่างเป็นทางการ
สำหรับประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่ได้ประกาศเข้าร่วมใน EU เมื่อปี 1973 โดยหลังจากนั้นอีก 2 ปี ในปี 1975 อังกฤษก็ได้ยืนยันที่จะอยู่ใน EU ด้วยเสียง 67% ต่อ 33% ที่ไม่เห็นด้วย
แต่ในวันนี้ ประวัติศาสตร์ของอังกฤษได้กลับด้าน เมื่อกระบวนการของ Brexit เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2016 จากการลงประชามติด้วยเสียง 52% เพื่อออกจาก EU ส่วนเสียงที่สนับสนุนให้อยู่นั้นมีจำนวน 48%