แบงก์ชาติเกาหลีใต้เตือนหนี้ครัวเรือนกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางเกาหลีใต้เตือนว่า การกู้ยืมภาคครัวเรือนในเกาหลีใต้ ได้พุ่งไปอยู่อันดับ 3 ของโลก และอาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงทำให้ความเท่าเทียมแย่ลง
รายงานของธนาคารกลางเกาหลีใต้ระบุว่าหนี้สินภาคครัวเรือนอยู่ที่ 105% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นับถึงปลายปี 2565 เทียบกับ 89.4% เมื่อปี 2560 สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 3 รองจากสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 128.3% ของจีดีพี และออสเตรเลียซึ่งอยู่ที่ 111.8% ทั้งนี้นับจากประเทศยักษ์ใหญ่ 43 ประเทศทั่วโลก ขณะที่เมื่อเทียบกับปี 2555 นั้น เกาหลีใต้อยู่อันดับ 14 ที่อัตราส่วน 77.3%
วอลล์สตรีทลดคาดการณ์จีดีพีจีน หลังโตต่ำกว่าคาด
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารรายใหญ่ในตลาดวอลล์สตรีท พากันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2566 หลังจากจีนรายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่น่าผิดหวังในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ
นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้กรุ๊ปปรับลดคาดการณ์จีดีพีจีนปี 2566 ลงสู่ระดับ 5% จาก 5.5% ภายใต้ความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยการประชุมคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ในช่วงปลายเดือนนี้ มีแนวโน้มที่จะให้แนวด้านนโยบายเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเสี่ยงว่านโยบายอาจไม่แข็งแกร่งพอกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
ด้านเจพีมอร์แกนปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนปีนี้ลงเหลือ 5% จาก 5.5% นอกจากนี้ ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ แบงก์, แคปิตอล อีโคโนมิกส์ และโซซิเอเต เจเนอรัล ต่างลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีนลงเช่นกัน
ขณะที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ โฮลดิงส์ ระบุว่านักลงทุนไม่ควรตั้งความหวังว่ารัฐบาลจีนจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี โนมูระยังคงตัวเลขคาดการณ์จีดีพีจีนปี 2566 ไว้ที่ระดับ 5.1%
“เยลเลน” เตือนจีนซบ อาจกระทบประเทศอื่น
เจเนต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เตือนว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบลุกลามไปยังเศรษฐกิจของประเทศอื่น แต่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอยในปีนี้
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนขยายตัว 6.3% ในไตรมาส 2 ของปีนี้ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์
ที่ระดับ 7.3% โดยได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ที่ซบเซาทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ทำให้การส่งออกลดลง, การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ซบเซา และการชะลอตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ อัตราว่างงานในกลุ่มชาวจีนวัย 16-24 ปี ยังพุ่งสู่ระดับ 21.3% ในเดือนมิ.ย. ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์
เยลเลนชี้ว่าหลายประเทศพึ่งพาการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน โดยเฉพาะประเทศในเอเชีย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐเช่นกัน ซึ่งแม้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง แต่ตลาดแรงงานยังมีความแข็งแกร่ง ดังนั้นจึงคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะไม่เผชิญภาวะถดถอย
รัสเซียเข้าควบคุมบริษัทลูก “ดานอน” – “คาร์ลสเบิร์ก”
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ลงนามในกฤษฎีกาเพื่ออนุญาตให้รัฐบาลรัสเซียเข้าควบคุมบริษัทลูกในรัสเซียของดานอน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตโยเกิร์ตจากฝรั่งเศส และบริษัทบัลติกาบริวเวอร์รีส์ในรัสเซีย ที่คาร์ลสเบิร์ก ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเบียร์จากเดนมาร์ก ถือหุ้นอยู่
กฤษฎีการะบุว่า สำนักงานทรัพย์สินของรัฐบาลรัสเซียจะเข้าจัดการดูแลหุ้นที่บริษัทต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในบริษัทดานอนประจำรัสเซียและบัลติกาบรูว์เวอร์รีส์เป็นการชั่วคราว การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังจากปูตินออกคำสั่งเมื่อเดือนเม.ย. ให้รัฐบาลสามารถยึดทรัพย์สินบริษัทของชาติที่ไม่เป็นมิตรได้เป็นการชั่วคราว ในกรณีที่ทรัพย์สินของรัสเซียในต่างแดนถูกยึดหรือคุกคาม
คาร์ลสเบิร์กกำลังเจรจาขายธุรกิจในรัสเซีย แต่ยังไม่บรรลุข้อตกลง เจ้าหน้าที่บริษัทเผยว่าเมื่อถูกรัฐยึดกิจการ ทำให้กระบวนการซื้อขายเกิดความไม่แน่นอน ส่วนดานอนได้เริ่มกระบวนการขายธุรกิจในรัสเซียตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว
คนอังกฤษมอง”เบร็กซิต”เป็นทางเลือกที่ผิดพลาด
ผลสำรวจจาก YouGov พบว่าจำนวนคนอังกฤษที่มองว่าการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) เป็นความผิดพลาด มีมากเป็นประวัติการณ์ในเดือนนี้ โดยคนอังกฤษ 57% ระบุว่าการตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรืออียูเมื่อปี 2559 เป็นการตัดสินใจที่ผิด พิจารณาจากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเพียงเล็กน้อยที่ได้รับ ตัวเลขดังกล่าวเทียบกับก่อนหน้านี้ที่คนอังกฤษ 32% คิดว่าเบร็กซิตเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
นอกจากนั้น มากกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 55% ยังระบุว่าจะออกเสียงเพื่อกลับเข้าร่วมอียู ขณะที่ 31% ระบุว่าจะไม่กลับเข้าร่ม หากมีการจัดประชามติในวันนี้
YouGov ระบุว่าผลสำรวจความเห็นครั้งนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อเดือนม.ค. 2564 ที่คนอังกฤษ 49% ระบุว่าจะออกเสียงเพื่อกลับเข้าร่วมอียู และ 37% จะไม่กลับเข้าร่วม
ทั้งนี้ ผู้นำอังกฤษระบุว่าเบร็กซิตกำลังก่อให้เกิดผลดี ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม อันจะทำให้สินค้าต่างๆ มีราคาถูกลง แต่นักเศรษฐศาสตร์มองว่านโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ลดหย่อนภาษีและค่าอากร รวมถึงผ่อนคลายกฎระเบียบการค้า ไม่มีแนวโน้มจะช่วยหนุนเศรษฐกิจของประเทศ แต่อาจมีผลอย่างจำกัดในแง่ของการเป็นเครื่องมือสำหรับการพัฒนา