นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังแดนน้ำหอม ระบุ เศรษฐีพันล้านส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ แนะเก็บภาษี 90%
Thomas Piketty นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังชาวฝรั่งเศส ระบุว่าเศรษฐีพันล้านส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเรียกร้องให้เก็บภาษีแบบขั้นบันได ตั้งแต่ระดับ 5% จากบรรดามหาเศรษฐีที่มีสินทรัพย์มูลค่า 2 ล้านยูโร หรือเกือบ 70 ล้านบาท ไปจนถึงระดับ 90% สำหรับเศรษฐีพันล้านที่มีสินทรัพย์มากกว่า 2,000 ล้านยูโร หรือเกือบ 70,000 ล้านบาท
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอธิบายว่า เจ้าของกิจการมักมีเงินหลายล้านหรือหลายสิบล้าน แต่ยังมีคนที่มีเงินหลายร้อยหรือหลายพันล้าน ซึ่งจะต้องนำมาแบ่งปันกับคนอื่น อาจเป็นพนักงานก็ได้ แต่ไม่จำเป็นต้องมีเศรษฐีพันล้านก็ได้ เพราะจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าการมีเศรษฐีพันล้าน เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้ ฐานะหรือความมั่งคั่งของเศรษฐีพันล้านก็ได้มาจากสิ่งของร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ที่เป็นสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐาน และบรรดาห้องทดลองงานวิจัยต่างๆ
อีกแนวทางหนึ่งในการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงความมั่งคั่งอย่างเท่าๆ กัน และมีอำนาจด้วย คือผู้ถือหุ้นไม่ควรมีหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทเกินกว่า 10% และพนักงานควรมีที่นั่งในบอร์ดบริษัท 50%
Piketty เสริมว่า ความคิดที่ว่าเศรษฐีพันล้านสร้างงานและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นความคิดที่ผิด พร้อมชี้แจงว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 2.2% ในสหรัฐช่วงปี 2493-2533 แต่เมื่อจำนวนเศรษฐีพันล้านทะยานขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 และ 2000 จากประมาณ 100 คนเมื่อปี 2533 เป็นประมาณ 600 ในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อคน ลดลงเหลือ 1.1%
ทั้งนี้ Piketty เคยเขียนหนังสือ “Capital in the 21st Century” เมื่อปี 2556 ที่กลายเป็นหนังสือติดอันดับขายดีไปทั่วโลกและเปรียบเสมือนคัมภีร์ไบเบิลในการเก็บภาษีคนรวยแบบก้าวหน้า ล่าสุดเขาเพิ่งเขียนหนังสือ “Capital and Ideology” ซึ่งจะมีภาคภาษาอังกฤษในเดือนมี.ค.ปีหน้า
แผนการของเขาเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้างในหมู่นักวิชาการและผู้มีแนวคิดซ้ายจัด แต่นักการเมืองไม่เคยนำแผนการของเขาไปใช้ แม้แต่ในฝรั่งเศสเองยังยกเลิกการเก็บภาษีคนรวยเมื่อปี 2560 ด้วยเหตุผลว่าไม่เอื้อหนุนให้เกิดการลงทุน
อย่างไรก็ตาม Piketty บอกว่ามีความหวังกับผู้สมัครหาเสียงเพื่อให้ได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต ไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐ อย่างนายเบอร์นี แซนเดอร์ส กับนางอลิซาเบธ วอร์เรน โดยนางวอร์เรนเสนอเก็บภาษีความมั่งคั่ง 2% กับผู้มีสินทรัพย์มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) ขณะที่นายแซนเดอร์สเสนอขึ้นภาษีกองมรดก
นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังระบุว่า นายแซนเดอร์สและนางวอร์เรน รวมถึงนักการเมืองรุ่นใหม่ของพรรคเดโมแครต กำลังผลักดันให้เกิดการกระจายความมั่งคั่ง พร้อมเสริมว่าระบบทุนนิยมแบบตลาดเสรีที่ครอบงำสหรัฐอยู่ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ต้องมีการปฏิรูป
Piketty มองว่าสมัยเรแกนถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความชอบธรรมเพื่อสะสมความมั่งคั่ง ประหนึ่งว่าเศรษฐีพันล้านเป็นผู้มาโอบอุ้ม ทั้งที่ระบบดังกล่าวมีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ลดลงครึ่งหนึ่ง หรือความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว ดังนั้นจึงถึงเวลาของการปรับปรุงระบบ
การเก็บภาษีมากขึ้นจากผู้มีฐานะดี เป็นหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียม โดยทั้งบิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ระบุว่าทุนนิยมเป็นระบบที่ดี แต่ทั้งสองคนอยากให้คนรวยเสียภาษีมากขึ้น