คอลัมน์ e-Dragon
“คนพันธุ์ดิจิทัล มี e-DNA และบ้างาน”
กรณีศึกษาจาก Alibaba จีนที่บริษัทไทยต้องการ!
——————————–
ในยุค “ดิจิทัล” บริษัทต้องการคนที่มี “ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์” มาทำงานในองค์กรมากขึ้น แต่ไม่ใช่เพียงแค่เล่น Social media network อย่าง facebook, LINE, Instragram และ twitter ได้ แต่ต้องมีทักษะในการทำงาน ความทุ่มเท องค์ความรู้ในงานนั้นๆ อย่างดีเยี่ยม ที่สำคัญพร้อมที่จะเรียนรู้
มาดูกันว่า การทำงานของคนหนุ่มสาว วัย 23-30 ที่ Alibaba สำนักงานใหญ่ ที่ซีซี่แคมปัส ณ เมืองหางโจว เป็นอย่างไร
มีรหัสที่พนักงาน Alibaba รู้จักกันดี นั่นคือ “996” หมายถึง ทำงาน 9 โมงเช้ายัน 3 ทุ่ม 6 วันติด จันทร์-เสาร์ ไม่แน่ใจว่าเป็นงานทื่สนุกหรือแอบโหดก็ไม่รู้เหมือนกันค่ะ ดังนั้นในยามดึกดื่น จึงเป็นปกติ ที่พนักงาน Alibaba จึงเรียก DiDi หรือ Grab เวอร์ชั่นจีน กันให้วุ่นวาย

อะไรที่ทำให้เกิด”พลัง” ในการขับเคลื่อนงานและองค์กรที่ทำให้คนจีนทุ่มเทได้ขนาดนั้น ไม่ใช่แค่ว่ามีผู้ก่อตั้งอย่าง แจ็คหม่า (Jack Ma) แล้วจะจบ เพราะต้องมี e-DNA ในสภาวะการทำงานอยู่จริง ขอสรุปมาให้ฟังแบบฉบับย่อ 3 ประการ ผ่านสายตาคนไทยที่ต้องขยัน active สุดตัว และทำงานให้คนใน Alibaba ชมเชยและยอมรับมาเหมือนกัน

ประการแรก ที่ Alibaba เรื่อง “อายุ” เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแปรผันตรงตัวกับ “ความเก่ง” เพราะคุณสามารถอายุ 28-33 ปีและเป็นหัวหน้าของคนอายุ 35-40 ปีก็ได้ถ้าคุณ”เจ๋งพอ” แค่นั้นเอง
เคยพาคณะผู้บริหารในหน่วยงานรัฐบาลไทยไปพบกับผู้บริหารระดับสูงของ Alibaba ซึ่งผู้ใหญ่ท่านเองคิดว่าหัวหน้าคือคนที่อายุมาก แต่เป็นผู้หญิงหน้าเด็ก ที่ชายหนุ่มวัยกลางคนที่เรียก “บิ๊กบอส” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ พร้อมน้ำเสียงและสายตาที่เลื่อมใส
ประการที่สอง ยิ่งทำ”เยอะ”ยิ่งได้”เยอะ” และ “ไม่เกี่ยงงาน” การอาสาเข้ารับงานยากๆ วัยรุ่นคนจีนชอบ เขาไม่ชอบทำงานเช้าชามเย็นชาม หรืองานเดิมๆ ชอบลองหลายๆ อย่าง อาจจะเป็นเพราะประเทศเขาใหญ่ มีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน เขาต้องสู้รบปรบมือเพื่อขึ้นไปถึงยอดของสามเหลี่ยมสมการสังคม
ดังนั้นการรับงานยากๆ ใหม่ๆ จากหัวหน้า และทุ่มเทจน ”เห็นผลลัพธ์” เพื่อเลื่อนขั้น ได้โบนัส หรือได้เงินตอบแทน เบี้ยขยันเพิ่มเติมจะเห็นได้มากมายในองค์กร บริษัทสัญชาติจีน ไม่ใช่แค่กับ Alibaba ซึ่งสร้างแรงจูงใจให้คนอยาก”ทำมาก ได้มากนั่นเอง
ประการที่สาม ทำงานผ่าน Dingtalk ซึ่งเป็น Online collaboration tool เป็นการ Tracking งาน และ Performance ซึ่งบริษัทไม่ว่าเล็กกลางใหญ่ของจีน ส่วนใหญ่ทำงานกันแบบวัดผลได้แบบนี้กันหมดแล้ว คำว่า “วัดผลได้” หมายถึง นายสั่งอะไร ลูกน้องทำอะไรอยู่ วันๆ งานไหนยังไม่เสร็จ วันกำหนดส่งต้องเสร็จเมื่อไหร่ เป็นอะไรที่ตรวจสอบได้หมด ซึ่ง Dingtalk เป็น Tool app ของ Alibaba
แต่องค์กรหน่วยงานอื่นก็สามารถใช้แอพพลิเคชันแบรนด์อื่นในการช่วยการจัดงานที่ว่านี้ได้ เช่น teamwork, trello, britix24 เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า “การเปิดใจ ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย” ของนายจ้าง และ ”การกล้าพิสูจน์ตัวเอง”ของลูกจ้างยุคใหม่ ตามสไตล์ e-DNA … นี่คือข้อเท็จจริงที่ถอดบทเรียนมาจาก Alibaba