ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้นำเสนอความคิดเห็นใน Facebook ด้วยการเริ่มต้นที่่เป็นการตั้งคำถามในบทความที่ว่า “เงินบาทแข็ง แสดงว่ารัฐบาลลุงเก่งหรือไม่?”
โดยอ้างถึงการที่ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ธนาคารเกียรตินาคิน ได้เขียนบทความในกรุงเทพธุรกิจต่อประเด็นการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 30 บาทเศษในขณะนี้ โดยใช้ชื่อบทความว่า “แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี” ได้อธิบายถึงคำนิยามค่าเงินบาทที่สำนักข่าว Bloomberg ตั้งให้ หลังจากที่เงินบาทแข็งที่สุดในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ได้ระบุหมายเหตุไว้ใน Facebook ของวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 ว่า การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
โดยที่อดีตรัฐมนตรีคลังได้เริ่มต้นระบุว่า เป็นการอธิบายแบบรวบรัดเกี่ยวกับเงินบาทแข็งเพราะเงินไหลเข้ามาก เงินไหลออกน้อย ซึ่งเหตุผลใหญ่ที่เงินไหลออกน้อย เพราะในช่วงรัฐบาลลุง (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ภาคธุรกิจลงทุนน้อย จึงไม่ค่อยนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์
ส่วนเหตุผลใหญ่ที่เงินไหลเข้ามาก เพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ย เพราะ ธปท.(ธนาคารแห่งประเทศไทย) กำหนดดอกเบี้ยนโยบายสูงเกินไป เมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจไทย และอีกส่วนหนึ่งเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อธิบายต่อว่า นโยบายรัฐบาลลุงเอื้อนายทุนใหญ่ ทำให้บริษัทในตลาดหุ้นกำไรดี ตัวเลขจีดีพี ก็ดี แต่ไม่กระจายไปถึงรากหญ้า กำลังซื้อของชาวบ้านจึงต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจลงทุนน้อย วนไปแบบงูกินหาง
โดยตัวอย่างนโยบายแบบนี้ ก็คือการยกเลิกเพดานราคาก๊าซหุงต้มสำหรับภาคครัวเรือน ให้ใช้อิงราคาตลาดโลกที่สูงกว่า ทำให้บริษัทก๊าซกำไร แต่กำลังซื้อของชาวบ้านลดลง
ขณะที่เงินที่ไหลเข้าเพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ยนั้น ก็ไม่ได้ช่วยกระจายรายได้ เพราะไปกระจุกตัวซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ โดยผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์หลัก จึงเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่พึ่งเงินทุนระยะยาว
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล จึงเตือนว่า เงินไหลเข้าจึงทำให้ธุรกิจนี้บูมหนัก อาจนำไปสู่ฟองสบู่
ในด้านเงินทุนสำรอง ยิ่งมีเงินไหลเข้ามาก ธปท.ก็จะถูกกดดันให้ต้องเหยียบเบรกไว้บ้าง ไม่ให้เงินบาทแข็งเร็วเกินไป ทำให้ต้องเป็นผู้ซื้อดอลลาร์เอาไว้เอง ซึ่งก็ยิ่งทำให้ทุนสำรองมีแต่สูงขึ้นๆ และคนอาจจะเข้าใจผิดว่า เป็นการแสดงผลงานดีเด่นของรัฐบาลลุง
หากถามว่า บาทแข็ง หรือบาทอ่อน ดีกว่ากัน? โดยอดีตรัฐมนตรีคลังชี้ว่า บาทแข็งทำให้บริหารเศรษฐกิจยากโดยไม่จำเป็น เหมือนวิ่งแข่ง แต่แบกกระสอบข้าวไปด้วย คงไม่มีใครที่คิดว่าวิธีนี้จะทำให้คนวิ่งแข่งได้เปรียบ
ขณะที่ส่งออกสินค้าทุกอย่างยากขึ้น ธุรกิจที่จะลงทุนจึงต้องมองหาช่องขายในประเทศเป็นหลัก เพราะช่องส่งออกยากเย็นมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่กระทบหนัก คือสินค้าเกษตร เพราะต้องเผชิญราคาตลาดโลกเป็นดอลลาร์ และเมื่อบาทยิ่งแข็ง แต่เงินดอลลาร์ที่ได้รับมีจำนวนเท่าเดิม หลังจากแปลงเป็นเงินบาทก็ยิ่งได้จำนวนบาทที่น้อยลง ดังนั้น เกษตรกรจึงจนลง
สุรปว่า บาทแข็ง และเงินทุนสำรองสูง เป็นภาพสะท้อนจุดอ่อนในนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลลุง …ไม่ใช่สะท้อนผลงานดีเด่น
สำหรับบทความของ ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ในกรุงเทพธุรกิจประจำวันที่ 10 กรกฎาคม ได้ชี้ประเด็นถึงเงินบาทแข็งเกือบ 6% ในปีนี้ ไปแตะที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้ ธปท. ต้องลดความร้อนแรงลง ทั้งการเข้าซื้อเงินต่างประเทศจนทุนสำรองเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (215,000 ล้านดอลลาร์) ทั้งการแทรกแซงด้วยวาจา และออกมาตรการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้น เพื่อลดเงินที่ไหลเข้าเก็งกำไรตลาดพันธบัตร เพื่อเก็งกำไรค่าเงิน
ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของเงินบาทล่าสุด อยู่ที่ระดับ 30.86 บาทต่อดอลลาร์ในวันพุํที่ 10 กรกฎาคม ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับเงินบาทที่เคยแข็งค่าที่ระดับ 30.56 บาทต่อดอลลาร์ในเดือนพฤศจิกายน 2556