HomeWorldใช้ไปแล้ว 1 เหลืออีก 3 "มาตรการสกัดเก็งกำไรค่าบาท"

ใช้ไปแล้ว 1 เหลืออีก 3 “มาตรการสกัดเก็งกำไรค่าบาท”

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นในวันที่ 12 ก.ค. 2562 ซึ่งนับเป็น “มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท” ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้มีการส่งสัญญาณมาก่อนหน้านั้น

ทุกมาตรการที่ออกมาย่อมส่งผลกระทบข้างเคียง อย่างมาตรการที่เพิ่งประกาศไปวันนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น นักลงทุนเทขายเพราะวิตกว่าเม็ดเงินไหลเข้าน่าจะชะลอตัวลง และส่งผลกระทบต่อตลาด

แต่ถึงอย่างไร นักลงทุนต่างชาติก็ยังคงซื้อสุทธิต่อเนื่อง โดยมียอดซื้อสุทธิ 457.10 ล้านบาท

- Advertisement -

แต่มีมาตรการอะไรอีกบ้างที่มีความเป็นไปได้ที่ธปท.จะประกาศออกมา หากสถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าต่อไปอีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมาตรการที่เป็นไปได้ ดังนี้

มาตรการป้องกันค่าบาท

ในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มตลาดการเงินไทย ยังอาจต้องเผชิญกับหลายบททดสอบในช่วงที่เหลือของปีโดยเฉพาะผลพวงจากความไม่แน่นอนของทิศทางสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้า รวมถึงภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้ธนาคารกลางหลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินในเชิงที่ผ่อนคลายมากขึ้น

ปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมดังกล่าว อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติ ยังคงมีมุมมองในเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น แม้เงินบาทอาจจะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าลงหลังการประกาศมาตรการดูแลเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นในครั้งนี้อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อติดตามประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาอ่อนค่าลงจากประเด็นเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯซึ่งทำให้ยังคงเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยในช่วงหลังจากนี้

หากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับที่ผิดปกติ คาดว่า ธปท. ก็อาจจะกลับมาประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการ/เครื่องมืออื่นเพิ่มเติมอีกในระยะต่อๆ ไป โดยคงต้องยอมรับว่าแต่ละเครื่องมือต่างก็มีเงื่อนไขและผลกระทบต่อตลาดในระดับที่แตกต่างกัน

สำหรับมาตรการที่ประกาศในวันนี้ ทำให้ เงินบาทอ่อนค่ากลับมาที่ระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ หลังการเปิดเผยมาตรการครั้งนี้ของธปท. จากระดับปิดตลาดวันก่อนหน้าที่ 30.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ

  1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของมาตรการดูแลบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident: NR) โดยธปท. ปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของ NR ลงมาที่ 200 ล้านบาทต่อราย จาก 300 ล้านบาทต่อราย ทั้งบัญชี NRBAซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของ NR เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป อาทิ เพื่อชำระค่าสินค้า/บริการและบัญชี NRBS ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของ NR เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่นๆ ทั้งนี้ เกณฑ์นี้จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ค. 2562 เป็นต้นไทย
  2. การยกระดับความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติซึ่งจะต้องมีการรายงานลึกขึ้นถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง (Ultimate Beneficiary Owners: UBO) โดยหมายถึงผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ (NR) ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริง และ/หรือผู้ที่มีอำนาจทั้งในทางตรงและทางอ้อมในการตัดสินใจทำธุรกรรมเพื่อถือครอง หรือลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกในไทย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่งวดการรายงานข้อมูลเดือนก.ค. 2562 เป็นต้นไป
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท. ประกาศมาตรการข้างต้นออกมา น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณที่สะท้อนโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุมFOMC ในช่วงสิ้นเดือนก.ค. 2562 นี้เป็นอย่างเร็ว

นอกจากนี้ การปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้างบัญชี NRBA และ NRBS ลงมาที่ 200 ล้านบาทต่อราย NR ดังกล่าว ยังเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของธปท. ที่ต้องการเลือกใช้มาตรการที่มุ่งเป้าหมายเฉพาะจุดเพื่อวัตถุประสงค์ในการสกัดเงินระยะสั้นอีกครั้งเนื่องจากการลดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันในบัญชีเงินฝากในรูปเงินบาทของNR  เสมือนเป็นการลดช่องทางการพักเงินของนักลงทุนต่างชาติและเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของธปท. ก่อนหน้านี้ซึ่งน่าจะช่วยสกัดเงินที่เข้ามาเพื่อเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบไปยังภาพรวมการเคลื่อนย้ายเงินทุนในส่วนอื่นๆ

โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการค้า-การลงทุนของประเทศมากนัก ขณะที่ การยกระดับความเข้มงวดในการรายงานชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงในการถือครองตราสารหนี้ น่าจะช่วยทำให้ธปท. สามารถติดตามพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเฉพาะรายในตลาดตราสารหนี้ไทยได้อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News