อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาพ้นโทษจากการต่อสู้คดีฟ้องร้องเป็นครั้งที่สอง และออกมากล่าวว่าความเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขาที่จะทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้ง (Make America Great Again) เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
วุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ออกเสียง 57 ต่อ 43 ตัดสินให้ลงโทษอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากคะแนนเสียงดังกล่าวไม่ถึงสองในสาม จึงทำให้ไม่สามารถเอาผิดอดีตประธานาธิบดีในข้อหาปลุกปั่นม็อบซึ่งบุกเข้าโจมตีอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 6 มกราคม ในระหว่างที่กำลังมีการรับรองชัยชนะการเลือกตั้งของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครตในขณะนั้น
หลังจากได้รับการตัดสินให้พ้นโทษได้ไม่นาน อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวถึงการสู้คดีในครั้งนี้โดยมีใจความว่า “และแล้วประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกพิธีการล่าแม่มดครั้งยิ่งใหญ่ในประเทศของเราอีกครั้ง” และกล่าวเพิ่มเติมว่า “ประวัติศาสตร์ต้องจารึกไว้ด้วยว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้รักชาติอย่างพวกเราที่ต้องการทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกายิ่งใหญ่อีกครั้งเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น และผมหวังว่าผมจะได้ร่วมเดินหน้าไปพร้อมกับชาวอเมริกันทำให้ความยิ่งใหญ่ของอเมริกาเป็นผลสำเร็จในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้”
แม้ว่าอดีตประธานาธิบดีจะพ้นโทษจากการถูกถอดถอนด้วยข้อหาปลุกปั่นให้เกิดการก่อจลาจล แต่การออกเสียงในครั้งนี้มีวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันออกเสียงเห็นด้วยให้ตัดสินลงโทษอดีตประธานาธิบดีถึง 7 คน ทำให้มีตัวเลขวุฒิสมาชิกจากพรรคเดียวกันออกเสียงลงโทษเป็นจำนวนสูงสุดในประวัติศาสตร์
จากการพ้นโทษด้วยข้อตัดสินและการแถลงการณ์ของอดีตประธานาธิบดีในภายหลังการตัดสินดังกล่าวทำให้นักวิเคราะห์ทางการเมืองตั้งข้อสงสัยว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ยังคงมีแผนอนาคตทางการเมืองที่เตรียมไว้อย่างแน่นอน แต่แผนการดังกล่าวจะรวมถึงการแก้แค้นวุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกันทั้ง 7 คน และการลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยในอีกสี่ปีข้างหน้าหรือไม่ เป็นประเด็นที่ยังคงต้องติดตามกันต่อไป
ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ทางการเมืองอีกส่วนหนึ่งมองว่า วุฒิสมาชิกส่วนใหญ่จากทั้ง 7 คนจากพรรครีพับลิกันซึ่งออกเสียงให้ลงโทษอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เป็นผู้ที่เลือกจะไม่สมัครเข้ารับเลือกตั้งตำแหน่งทางการเมืองอีกแล้ว ส่วนผู้ที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์เป็นผู้ที่ยังคงมีความทะเยอทะยานทางการเมืองและยอมให้อดีตประธานาธิบดีเป็นผู้กำหนดวาระในการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่อาจสนับสนุนให้อดีตประธานาธิบดีลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2567