ธนาคารโลกเตือนความเสี่ยงวิกฤติหนี้สินในโลก ร้องภาครัฐ-ธนาคารกลาง ยอมรับดอกเบี้ยต่ำประวัติการณ์อาจไม่เพียงพอบรรเทาปัญหาการเงิน
ธนาคารโลกระบุในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ว่าการสะสมของหนี้มีอยู่ 4 ระลอกในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยระลอกปัจจุบันเริ่มขึ้นเมื่อปี 2553 และน่าจะเป็นการกู้ยืมครั้งใหญ่ที่สุด รวดเร็วที่สุด และเพิ่มขึ้นในวงกว้างมากที่สุด ทั่วโลกนับจากทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา
ธนาคารโลกระบุว่า แม้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ ช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่มาพร้อมกับระดับหนี้สินที่สูง แต่การสะสมของหนี้ 3 ระลอกก่อนหน้านี้ ล้วนจบลงด้วยวิกฤติการเงินในประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารโลก ระบุว่าจากประวัติกระแสการสะสมของหนี้ครั้งที่ผ่านๆ มา สะท้อนว่ากระแสเหล่านี้มักจบไม่สวย ดังนั้นในสภาพแวดล้อมที่เปราะบางทั่วโลก การปรับนโยบายจึงมีความสำคัญยิ่งเพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากกระแสหนี้ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ เมื่อปี 2561 หนี้สินทั่วโลกพุ่งสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 230% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ขณะที่หนี้สินรวมของตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาขึ้นสู่ระดับสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 170% ของจีดีพี หรือเพิ่มขึ้น 54% ของจีดีพีตั้งแต่ปี 2553
จีนมีสัดส่วนมากพอควรในการสะสมหนี้ ส่วนหนึ่งเพราะเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ แต่ธนาคารโลกย้ำว่าการสะสมหนี้สินเป็นไปในวงกว้างในหลายประเทศมาตั้งแต่ปี 2553
หนี้สินทั่วโลกระลอกที่สี่ มีความคล้ายคลึงกับสามระลอกก่อนหน้านี้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นภูมิทัศน์ทางการเงินโลกที่เปลี่ยนไป ความเปราะบางที่มีมากขึ้น และความวิตกเกี่ยวกับการนำเงินที่กู้ยืม ไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
การสะสมของหนี้สินทั่วโลกระลอกแรกเกิดขึ้นช่วงปี 2513-2532 ระลอกที่สองคือปี 2533-2544 ระลอกที่สี่คือ 2545-2552
ธนาคารโลกระบุถึงทางเลือกด้านนโยบาย 4 ข้อสำหรับประเทศต่างๆ ในการลดความเป็นไปได้ของการที่หนี้สินระลอกปัจจุบัน จะกลายเป็นวิกฤติ หรือในกรณีที่เกิดวิกฤติก็สามารถบรรเทาผลกระทบได้
อย่างแรกคือ การบริหารหนี้อย่างเหมาะสมและมีความโปร่งใสเกี่ยวกับหนี้ ซึ่งน่าจะช่วยลดต้นทุนในการกู้ยืมและควบคุมความเสี่ยงทางการคลังได้
อย่างที่สองคือ กรอบนโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และการคลังที่แข็งแกร่ง ซึ่งน่าจะช่วยปกป้องประเทศกำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่ในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เปราะบาง
อย่างที่สามคือ กฎระเบียบและการกำกับดูแลภาคการเงินที่เข้มแข็ง ในอันที่จะเล็งเห็นและจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
อย่างที่สี่คือ การบริหารและการมีนโยบายการคลังสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดี สิ่งเหล่านี้ช่วยรับรองว่ามีการนำหนี้หรือเงินที่กู้ยืม ไปใช้อย่างเป็นประโยชน์