ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐ อนุมัติคำสั่งฝ่ายบริหารให้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อคณะรัฐประหารในเมียนมา
ไบเดนระบุว่า คำสั่งดังกล่าวเปิดโอกาสให้รัฐบาลสหรัฐ คว่ำบาตรแกนนำกองทัพที่มีบทบาทในการก่อรัฐประหาร รวมถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจของคนเหล่านี้ และสมาชิกใกล้ชิดในครอบครัวคนเหล่านี้ โดยจะมีการประกาศรายละเอียดในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า
อ่าน : นิวซีแลนด์ ระงับความสัมพันธ์ เมียนมา พร้อมงดการเยือนจากกองทัพ
สหรัฐยังจะใช้มาตรการควบคุมการส่งออก และอายัดทรัพย์ในสหรัฐที่เอื้อประโยชน์ต่อรัฐบาลเมียนมา โดยมีรายงานว่าสหรัฐห้ามบรรดาแกนนำในกองทัพเมียนมา เข้าถึงสินทรัพย์ 1,000 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐจะยังสนับสนุนโครงการด้านสุขภาพ, กลุ่มประชาสังคม และโครงการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนเมียนมา
พร้อมกันนี้ โจ ไบเดน ได้เรียกร้องอีกครั้ง ให้กองทัพเมียนมาปล่อยตัวผู้นำทางการเมืองและนักเคลื่อนไหวที่ถูกจับไป พร้อมเรียกร้องให้กองทัพวางมือจากอำนาจ
ด้านโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ระบุว่าสหรัฐกำลังร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อแกนนำกองทัพเมียนมา อันจะช่วยให้มาตรการต่างๆ มีน้ำหนักมากขึ้น
ขณะที่ดีเรก มิตเชลล์ อดีตทูตสหรัฐประจำเมียนมา ชี้ว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องโน้มน้าวให้ประเทศอย่างญี่ปุ่น อินเดีย และสิงคโปร์ มีส่วนร่วมในการแสดงปฏิกิริยาที่ชัดเจน ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา เนื่องจากกุญแจสำคัญไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่อเมริกาลงมือทำเท่านั้น แต่อยู่ที่การดึงพันธมิตรที่มีแต้มต่อ หรืออย่างน้อยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีบทบาทในการก่อรัฐประหาร ให้เข้าร่วมกับการเคลื่อนไหวด้วย
ด้านคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จะพิจารณามติที่ร่างโดยอังกฤษกับสหภาพยุโรป ซึ่งประณามรัฐประหารและเรียกร้องให้เปิดทางให้ผู้สังเกตการณ์เดินทางเข้าไปดูสถานการณ์ทันที
อย่างไรก็ตาม นักการทูตคาดว่าจีนกับรัสเซียจะคัดค้านหรือพยายามปรับถ้อยคำให้อ่อนลง อย่างกรณีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ออกแถลงการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เรียกร้องให้ปล่อยตัวออง ซาน ซูจี แต่ไม่ได้ประณามรัฐประหาร