ชาวชิลีลุกขึ้นประท้วงตามท้องถนนในกรุงซานเตียโก มาตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. สืบเนื่องจากการขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน แต่นับจากนั้นการประท้วงก็ได้ขยายวงไปเพื่อแสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับความอยุติธรรมหลายอย่าง ผลจากความเหลื่อมล้ำด้านมั่งคั่งในประเทศ
ชิลี เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจมากที่สุด ในบรรดาสมาชิก 30 ประเทศของโออีซีดี หรือองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
เมื่อเป็นดังนี้ ผู้คนจึงพากันออกมาชุมนุม เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรง และปรับปรุงระบบบำนาญ
การชุมนุมที่ดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ รวมถึงจำนวนผู้คนที่แห่มาประท้วงมากกว่าล้านชีวิต หรือกว่า 5% ของประชากรในประเทศ จนกลายเป็น “แผ่นดินไหวทางสังคม” ทำให้หลายฝ่ายยอมรับถึงปัญหาและลงมือเปลี่ยนแปลง โดยประธานาธิบดี Sebastian Piñera ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ขณะที่ธุรกิจกว่าพันแห่งรับปากจะลดความแตกต่างเรื่องเงินเดือน ระหว่างผู้บริหารกับคนงานระดับล่าง
ข้อตกลงของภาคธุรกิจ ซึ่งเรียกว่า “10x Challenge” ขอให้เจ้าของธุรกิจวางกฎลงไปว่า ผู้ได้รับเงินเดือนต่ำที่สุดในบริษัท จะต้องได้เงินไม่ต่ำกว่าผู้ได้เงินเดือนสูงสุด 10 เท่า จากปัจจุบันที่ได้ต่ำกว่าถึงกว่า 30 เท่า
นอกจากนั้น ยังมีการให้คำมั่นว่าจะขึ้นเงินเดือนขั้นต่ำด้วย
ผู้ผลักดันให้ภาคธุรกิจยอมปรับโครงสร้างเงินเดือน ย้ำว่าไม่ได้บังคับให้บริษัทใดเข้าร่วม แต่ให้เป็นไปอย่างสมัครใจ เพราะเกรงว่าหากมีการบังคับ อาจได้ผลแง่ลบตามมา เช่น อาจมีการลดเงินเดือนทั้งบริษัทเพื่อให้ช่องว่างเงินเดือนลดลง
ผู้นำภาคธุรกิจยังหวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ จะช่วยให้ภาคธุรกิจชิลีปฏิบัติได้ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของยูเอ็น ภายในปี 2573 และลดความไม่เท่าเทียมในประเทศ รวมถึงระหว่างประเทศได้
การประท้วงที่ยืดเยื้อในชิลี นำไปสู่การเคลื่อนไหวในภาคธุรกิจและสะท้อนให้เห็นความเร่งด่วนของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่ง โดยผู้นำภาคธุรกิจชี้ว่าเมื่อก่อนเจ้าของธุรกิจจำนวนมากคำนึงแต่เรื่องผลกำไร แต่ขณะนี้ทั้งประเทศเห็นแล้วว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
นักวิชาการแห่ง Metropolitan University of Educational Sciences ในกรุงซานเตียโก ระบุว่า การขึ้นค่าโดยสาร 30 เปโซ จุดชนวนให้ชนชั้นทำงานแห่กันออกมาแสดงความคับข้องใจและความผิดหวัง เพราะพวกเขารู้สึกถูกเอาเปรียบและถูกมองข้าม จากระบบที่ปล่อยให้ความมั่งคั่งตกอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่ม
แม้มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ชิลีไม่ได้ย่ำแย่สุดในละตินอเมริกา จะว่าไปแล้วชิลีส่องแสงเจิดจรัสผลจากกรอบเศรษฐกิจมหภาคที่แข็งแกร่งและความเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมทองแดง ส่งผลให้จำนวนคนจนที่มีรายได้วันละ 5.5 ดอลลาร์ ลดฮวบลงจาก 30% เมื่อปี 2543 เหลือ 6.4% ในปี 2560
แต่ความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโออีซีดี 65% ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าคนงานชิลีครึ่งหนึ่งมีรายได้ 550 ดอลลาร์ (ประมาณ 16,500 บาท) หรือน้อยกว่านี้ ด้านการศึกษาของภาครัฐเมื่อปี 2561 พบว่ารายได้ของคนรวยสุดนั้น มากกว่าคนจนสุด 13.6 เท่า
แถมระยะหลังยังมีเรื่องอื้อฉาวคอร์รัปชันมากขึ้น ตามด้วยข่าวการหลบเลี่ยงภาษีของคนระดับสูง เหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน
นอกจากนั้น ยังมีกระแสไม่พอใจรูปแบบเศรษฐกิจตลาดเสรีแบบชิลี ที่แม้นำความรุ่งเรืองและลดความยากจนลง แต่ส่งผลให้แทบทุกอย่าง ตั้งแต่การศึกษา การดูแลสุขภาพ ไปจนถึงระบบบำนาญ ถูกแปรรูปไปอยู่ในมือเอกชนเสียส่วนใหญ่ จนคนขับแท็กซี่คนนึงเอ่ยปากเชิงเหน็บว่า ชิลีเป็นประเทศเดียวในโลกที่แปรรูปแม้แต่แม่น้ำ ให้อยู่ในมือเอกชน
แม้รัฐบาลปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี และยกเลิกการขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดิน รวมถึงเสนอปรับระบบบำนาญ ระบบดูแลสุขภาพ ค่าไฟ จัดสรรเงินให้ชุมชนยากจนมากขึ้น และรับประกันค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งสร้างความพอใจแก่นักการเมืองฝ่ายค้าน แต่หลายฝ่ายยังจับตาว่าคำสัญญาเหล่านี้จะเป็นจริงหรือไม่