ฟิทช์ คงอันดับเครดิตไทย จับตาความไม่แน่นอนทางการเมือง
Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของไทยในระดับมีเสถียรภาพ พร้อมคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 2.6% ในปี 2565 เป็น 3.7% และ 3.8% ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และคาดว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 29 ล้านคน จาก 11.2 ล้านคน ในปี 2565
อย่างไรก็ดี คาดว่าการส่งออกสินค้าและบริการจะได้รับผลกระทบจากการลดลงหรือชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจโลก และการใช้นโยบายการเงินแบบหดตัวของประเทศพัฒนาแล้ว
ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Fitch ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย คือ การลดลงของสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อจีดีพี การลดการขาดดุล ตลอดจนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีศักยภาพในระยะปานกลาง
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้ Fitch มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ คือการไม่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและส่งผลต่อการเติบโตหรือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญต่อการปรับมุมมองในระยะปานกลางคือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่จะส่งผลต่อแผนการปรับภาวะทางการคลังให้เข้าสู่สมดุล
จีนขยายเวลาบ.อสังหาฯ จ่ายหนี้ หวังดันตลาดฟื้น
ผู้ดูแลกฎระเบียบของจีน เดินหน้ากดดันสถาบันการเงินให้ผ่อนคลายเงื่อนไขสำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการสนับสนุนให้เจรจาเพื่อขยายเวลาจ่ายสินเชื่อค้างชำระ โดยธนาคารกลางจีนและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน แถลงร่วมกันว่าเป้าหมายของมาตรการดังกล่าวก็เพื่อให้แน่ใจว่าที่อยู่อาศัยที่กำลังก่อสร้าง สามารถส่งมอบให้แก่ประชาชนได้
สินเชื่อค้างชำระบางก้อนที่ถึงกำหนดชำระภายในปลายปีหน้า จะได้รับการยืดเวลาชำระออกไป 1 ปี โดยก่อนหน้านี้ได้มีการผ่อนปรนให้สินเชื่อที่ถึงกำหนดชำระปลายเดือนพ.ค. 2566
การเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้น ท่ามกลางกระแสวิกฤติในภาคอสังหาริมทรัพย์จีน ซึ่งดึงรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ในโลก จนหลายฝ่ายคาดหมายว่าทางการจะดำเนินการมากขึ้นเพื่อผลักดันอุปสงค์ หลังจากยอดขายบ้านซบเซาลงอีกครั้งช่วงเดือนมิ.ย. จากที่ดีดตัวขึ้นเมื่อช่วงต้นปี อันทำให้บรรดาบริษัทอสังหาฯที่มีหนี้ เผชิญแรงกดดันมากขึ้น
Threads ทุบสถิติแพลตฟอร์มโตเร็วสุด สมาชิกทะลุ 100 ล้าน
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมตา แพลตฟอร์มส์ ยืนยันว่ามีผู้ลงทะเบียนใช้งาน “เธรดส์” (Threads) จำนวนมากกว่า 100 ล้านคนภายในเวลาเพียง 5 วันหลังการเปิดตัว และถือเป็นการทุบสถิติการทำยอดสมาชิก 100 ล้านเร็วที่สุดของแอปพลิเคชั่นในโลกโซเชียลมีเดีย
ก่อนหน้านี้ ChatGPT ใช้เวลา 2 เดือนในการทำยอดสมาชิก 100 ล้านราย ขณะที่ TikTok ใช้เวลา 9 เดือน และ Instagram ใช้เวลา 2 ปีครึ่ง ส่วนทวิตเตอร์ต้องใช้เวลาถึง 5 ปีครึ่ง โดยเมตา แพลตฟอร์มส์ เปิดตัว Threads เมื่อวันที่ 5 ก.ค. เพื่อท้าชนทวิตเตอร์ จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งาน Threads เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการเปิดใช้งานในสหภาพยุโรป
อย่างไรก็ดี จำนวนผู้ใช้งาน Threads ยังต่ำกว่าทวิตเตอร์ โดยข้อมูล ณ เดือนก.ค.ปีที่แล้ว ก่อนที่อีลอน มัสก์จะเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์นั้น ทวิตเตอร์มีจำนวนผู้ใช้งานรายวันเกือบ 240 ล้านคน
ฟ็อกซ์คอนน์ถอนตัวโครงการร่วมทุนในอินเดีย
ฟ็อกซ์คอนน์ ซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดของแอปเปิ้ลและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไต้หวัน ถอนตัวจากโครงการร่วมทุนมูลค่า 1.95 หมื่นล้านดอลลาร์ กับเวดานตา เครือบริษัทยักษ์ใหญ่ของอินเดีย ซึ่งจะสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์และจอภาพในรัฐคุชราตของอินเดีย
การถอนตัวของฟ็อกคอนน์จะส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อความพยายามของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอินเดียให้เป็นประเทศมหาอำนาจด้านการผลิตเทคโนโลยีขั้นสูง
ฟ็อกซ์คอนน์ระบุว่าการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างสองฝ่าย ทั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์ได้เริ่มโครงการสร้างโรงงานหลายแห่งทั่วอินเดีย แม้ยกเลิกการร่วมทุนกับบริษัทเวดานตา ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุด
เวียดนามไต่สวนเจ้าหน้าที่ทุจริตช่วงโควิด
เจ้าหน้าที่เวียดนามกว่า 50 คนถูกนำตัวขึ้นศาล เพื่อไต่สวนในคดีทุจริตเกี่ยวกับเที่ยวบินรับชาวเวียดนามกลับประเทศในช่วงโควิด-19 ระบาด หลังจากมีรัฐมนตรีหลายคนถูกปลดเพราะคดีอื้อฉาวนี้
อัยการจะตั้งข้อหาเจ้าหน้าที่และข้าราชการ 21 คนว่ารับเงินเกือบ 7 ล้านดอลลาร์จากธุรกิจนับร้อยรายให้ช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องนำชาวเวียดนามกลับประเทศช่วงโควิดระบาด ส่วนจำเลยอีก 33 คนจะถูกตั้งข้อหาแตกต่างกันไป มีทั้งการเสนอหรือสัญญาว่าจะให้สินบน การฉ้อฉล และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ยอดเงินสินบนทั้งหมดมีมูลค่า 9.5 ล้านดอลลาร์
คดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกวาดล้างการทุจริตครั้งใหญ่ที่ทำให้ประธานาธิบดีเหวียน ซวนฟุก ประกาศลาออกอย่างกะทันหันเมื่อเดือนม.ค.