HomeEditor's Pickศตวรรษแห่งเอเชีย กระแสการค้า-ทุนไหลบ่า

ศตวรรษแห่งเอเชีย กระแสการค้า-ทุนไหลบ่า

ศตวรรษที่ 19 ยุโรปมีอิทธิพลต่อโลก ศตวรรษที่ 20 อเมริกามีอิทธิพลอย่างมาก ขณะที่ปัจจุบันน่าจะถึงคราวของเอเชีย

การผงาดขึ้นมาของเอเชียดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันประชากรเกินครึ่งของโลกอยู่ในเอเชีย ภูมิภาคนี้ยังไต่ระดับจากชนชั้นล่างไปสู่ชนชั้นกลางภายในชั่วอายุคนรุ่นเดียว จนมีแนวโน้มว่าภายในปี 2583 ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกกว่า 50% จะมาจากทวีปนี้ และอาจมีสัดส่วนเกือบ 40% ของการบริโภคในโลก

งานวิจัยชิ้นใหม่ของ McKinsey Global Institute ระบุว่าการค้า เงินทุน ผู้คน ความรู้ การคมนาคม วัฒนธรรม และทรัพยากรต่างๆ ของภูมิภาคเอเชีย มีสัดส่วนมากขึ้นในโลก

ปัจจุบัน เอเชียมีสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของการค้าสินค้าในโลก เพิ่มขึ้นจาก 1 ใน 4 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในส่วนของนักเดินทางทางอากาศของเอเชียก็เพิ่มจาก 33% เป็น 40% ในโลก สำหรับสัดส่วนกระแสเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 23%

- Advertisement -

กระแสต่างๆ หนุนนำเมืองใหญ่ๆ ในเอเชียให้เติบโต จนเมืองใหญ่สุดในโลก 21 เมืองจากทั้งหมด 30 เมืองตั้งอยู่ในเอเชีย และ 4 เมืองจาก 10 อันดับเมืองที่มีคนมาเยือนมากที่สุดก็อยู่ในเอเชีย ส่วนเมืองรองๆ ลงไปก็กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุน อย่างย่างกุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าของเมียนมาร์ ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่อุตสาหกรรมที่อยู่บนฐานความรู้ได้ 2,600 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 78,000 ล้านบาท) เมื่อปี 2560 จากระดับศูนย์เมื่อ 12 ปีที่แล้ว

ส่วนเมืองเบกาซี ซึ่งอยู่ใกล้กรุงจาการ์ตา ก็ผงาดขึ้นเป็น “ดีทรอยต์แห่งอินโดนีเซีย” หรือศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์และจักรยานยนต์ของอินโดนีเซีย ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมากระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติที่ไหลเข้าเมืองนี้ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 29%

ด้านอินเดียมีเมืองไฮเดอราบัดที่กำลังไล่ตามเมืองบังกาลอร์ ในฐานะซิลิคอนวัลเลย์แห่งอินเดีย หลังจากธุรกิจในเมืองจดสิทธิบัตรไป 1,400 สิทธิบัตรเมื่อปี 2560

ไม่ใช่แค่ทุนนอกเท่านั้นที่ไหลเข้าเอเชีย เพราะเครือข่ายการค้าภายในภูมิภาคก็คึกคักไม่แพ้กัน เห็นได้จากการค้าสินค้าประมาณ 60% ของประเทศต่างๆ ในเอเชีย เป็นการค้าขายกันภายในภูมิภาค เช่นเดียวกับเงินทุนที่ไหลอยู่ในภูมิภาค เพราะเงินทุนมากกว่า 70% ของสตาร์ทอัพในเอเชีย มาจากภายในภูมิภาคนี่แหละ เหมือนการเดินทางท่องเที่ยวที่ 74% เป็นการเดินทางของคนเอเชียอยู่ภายในทวีปเอเชีย

สิ่งที่เอื้อต่อกระแสการไหลของผู้คน เงินทุน การค้าทั้งจากนอกและภายในภูมิภาค คือความหลากหลายของเอเชีย จริงๆ แล้วเอเชียมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอยู่ 4 ระดับ

ระดับแรกคือจีน ซึ่งเป็นเหมือนเสาหลักสำคัญทางเศรษฐกิจของเอเชีย และมีการลงทุนในประเทศต่างๆ ของเอเชียอย่างมาก ทั้งยังมีศักยภาพด้านนวัตกรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

ระดับที่สองคือ ประเทศก้าวหน้าในเอเชีย ซึ่งมีทั้งเทคโนโลยีและเงินทุน อย่างเกาหลีใต้ที่มีสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในเวียดนามถึง 33% หรือญี่ปุ่นที่มีสัดส่วน 35% ในกระแสเอฟดีไอของเมียนมาร์ และ 17% ในฟิลิปปินส์

ระดับที่สามคือ ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยประเทศเล็กๆ ที่มีความหลากหลายซึ่งไม่เพียงเป็นแหล่งแรงงานเท่านั้น แต่ยังมีศักยภาพด้านการเติบโต เพราะความสามารถด้านการผลิตและการบริโภคเพิ่มขึ้น

ระดับที่สี่คือ ชายขอบเอเชียและอินเดีย ซึ่งมีสัดส่วนการค้าภายในภูมิภาคต่ำที่สุดในบรรดา 4 กลุ่ม แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น กลุ่มนี้ถือว่ามีศักยภาพในแง่ของแรงงานอายุน้อย และชนชั้นกลางที่มีจำนวนมากขึ้นซึ่งอาจเป็นตลาดใหม่สำหรับสินค้าจากประเทศต่างๆ

ความแตกต่างในทั้ง 4 ระดับนับว่าเสริมเติมเต็มให้กัน เช่น เมื่อแรงงานของประเทศหนึ่งสูงอายุ ประเทศอื่นที่มีประชากรอายุน้อยก็ขึ้นมาเติมเต็มช่องว่างได้ อย่างอายุมัธยฐานของอินเดียคือ 27 ปี จีน 37 ปี และญี่ปุ่น 48 ปี

ในทำนองเดียวกัน เมื่อค่าแรงและต้นทุนการผลิตเริ่มเพิ่มขึ้นในประเทศหนึ่ง อีกประเทศที่การพัฒนาเพิ่งเริ่มต้นก็เข้ามารับช่วงกิจกรรมการผลิตต้นทุนต่ำไป อย่างช่วงปี 2557-2560 การส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิตของจีน ลดลงจาก 55% เหลือ 52% ขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทนี้ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 2.2% และของกัมพูชาเพิ่มขึ้น 0.4%

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News