HomeWorld“WEF”จัดอันดับความสามารถการแข่งขัน ไทยร่วงอยู่อันดับ 40 โลก

“WEF”จัดอันดับความสามารถการแข่งขัน ไทยร่วงอยู่อันดับ 40 โลก

WEF จัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันระดับโลกปี 62 ไทยร่วงจากอันดับ 38 มาอยู่ที่ 40 แต่มีคะแนนเพิ่มขึ้น ด้านคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ แนะเร่งแก้ไขทุจริต, โครงสร้างพื้นฐาน, ทักษะคน และลดช่องว่างการแข่งขันตลาดในประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ทางคณะฯ ได้เป็นสถาบันที่เป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ World Economic Forum (WEF) ในประเทศไทยเป็นเวลาหลายปี โดยได้รับสิทธิ์จัดการเผยแพร่รายงานดัชนีความสามารถการแข่งขันระดับโลก ซึ่งมีส่วนร่วมและบทบาทในการทำวิจัยระดับความสามารถของประเทศร่วมกับ WEF โดยจะนำไปคำนวณเป็นดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก

สำหรับในปี 62 ประเทศไทยมีค่าดัชนีความสามารถทางการแข่งขันดีขึ้นจากปี 61 เดิม 67.5 คะแนน เพิ่มเป็น 68.1 คะแนน แต่อันดับตกจาก 38 มาอยู่ที่ 40 ของโลก จากทั้งหมด 141 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ ส่วนอันดับ 1 ในปีนี้คือประเทศสิงคโปร์ แซงหน้าสหรัฐฯแชมป์เก่าปี 61 ตกลงมาอยู่อันดับที่ 2 อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศ ASEAN+3 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 จาก 12 ประเทศ โดยเป็นรองสิงโปร์, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย และจีน ตามลำดับ

- Advertisement -

ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาเทียบกับปีก่อนมีข้อมูลที่น่าสนใจในมิติต่าง ๆ ดังนี้

1.มิติ สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ประเทศไทยได้คะแนน 273 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน โดยคะแนนสภาพแวดล้อมหน่วยงานลดลงจาก 55.1 เป็น 54.8 ซึ่งอันดับด้านนี้ลดลงจาก 60 เป็น 67 ด้านโครงสร้างพื้นฐาน คะแนนของไทยลดจาก 69.7 เป็น 67.8 โดยอันดับตกจาก 60 เป็น 71 เกิดจากความหนาแน่นของระบบทางรถไฟ และประสิทธิภาพของการให้บริการรถไฟ

ขณะที่ ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คะแนนดีขึ้นจาก 56.6 เป็น 60.1 อันดับขึ้นมาอยู่ที่ 62 จากเดิม 64 ซึ่งเป็นผลจากความสามารถในด้านการใช้โทรศัพท์มือถือ ส่วนด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค คะแนนดีขึ้นจาก 89.9 เป็น 90.0 อันดับขึ้นจาก 48 มาอยู่ที่ 43 เนื่องจากสามารถควบคุมระดับเงินเฟ้อได้เป็นอย่างดี

2.มิติ ทรัพยากรมนุษย์ ได้ 151 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน มาจากตัวชี้วัดด้านสาธารณสุข ซึ่งได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 87.3 เป็น 88.9 โดยอันดับขึ้นจาก 42 เป็น 38 แต่ตัวชี้วัดด้านทักษะ คะแนนลดลงจาก 63 เป็น 62.3 อันดับลดจาก 66 มาอยู่ที่ 73 สาเหตุมาจากทักษะของนักศึกษาจบใหม่ลดลง และการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ไม่ดีด้วยเช่นกัน

3.มิติ ตลาด ได้ 277 คะแนน จาก 400 คะแนน โดยด้านการแข่งขันภายในประเทศมีคะแนนเพิ่มขึ้นจาก 53.4 เป็น 53.5 โดยอันดับขยับขึ้นมาอยู่ที่ 84 จากเดิม 92 ด้านตลาดแรงงาน มีคะแนนเท่าเดิมคือ 63.4 โดยอันดับตกจาก 44 มาอยู่ที่ 46  ด้านระบบการเงิน มีคะแนนสูงขึ้นจาก 84.2 เป็น 85.1 โดยอันดับตกจาก 14 เป็น 16 และด้านขนาดของตลาด มีคะแนนสูงขึ้นจาก 74.9 เป็น 75.5 ซึ่งอันดับคงที่ในลำดับที่ 18

4.มิติ ระบบนิเวศของนวัตกรรม ได้คะแนน 116 คะแนน จาก 200 คะแนน โดยด้านการเปลี่ยนแปลงธุรกิจมีคะแนนสูงขึ้นจาก 71 เป็น 72 คะแนน อันดับขยับขึ้นมาอยู่ที่ 21 จากเดิมอันดับ 23 เนื่องจากความคล่องตัวของธุรกิจในประเทศไทยดีขึ้นจากทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น และมีแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการที่มากขึ้น

ส่วนด้านความสามารถทางนวัตกรรม มีคะแนนสูงขึ้นจาก 42.1 เป็น 43.9 คะแนน ซึ่งอันดับสูงขึ้นจาก 51 เป็น 50 โดยความสามารถด้านนวัตกรรมดีขึ้นจากทุกปัจจัย รวมถึงการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดัชนีชี้วัดในปีนี้เป็นผลสะท้อนจากการพัฒนาประเทศในปีที่ผ่านมา แต่บทสรุปของดัชนีต่าง ๆ คงไม่อยู่ที่ตัวเลขเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงเท่านั้น เนื่องจากความสามารถทางการแข่งขันในเวทีโลกที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เกิดจากการพัฒนาประเทศตามลำพัง

แต่เกิดจากความสามารถในเชิงเปรียบเทียบกับการพัฒนาของประเทศอื่น ๆ ด้วย แม้ว่าระดับความสามารถของประเทศเพิ่มขึ้นแต่บริบทของเศรษฐกิจโลกก้าวพัฒนาไปมากกว่า จึงต้องอาศัยกลยุทธ์การพัฒนาที่เหนือกว่าประเทศคู่แข่งเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้ทำการวิเคราะห์ตัวชี้วัดทั้งหมดจากผลข้อมูลของ WEF พบว่าหากมีการเร่งพัฒนาในเรื่องของการลดการทุจริต ปรับปรุงคุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะของคนในประเทศ และมีนโยบายที่ช่วยลดช่องว่างในการแข่งขันของตลาดในประเทศ ซึ่งเป็นดัชนีที่มีค่าถ่วงน้ำหนักมาก แต่ไทยยังทำได้ไม่ดีนัก จะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน

ขณะที่ การพัฒนาการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และการมีสุขภาพดีอายุที่ยืนยาวของคนในประเทศ เป็นดัชนีที่มีค่าถ่วงน้ำหนักมาก โดยไทยทำได้ดีอยู่แล้ว แต่ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นไปอีกได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศอย่างก้าวกระโดด และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้อยู่ในอันดับที่สูงขึ้นต่อไปได้

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News