“ซิลเวอร์เกต” ยุติกิจการ เซ่นพิษคริปโทฯ
ซิลเวอร์เกต แคปิตอล (Silvergate Capital) ผู้ปล่อยสินเชื่อรายสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมคริปโทเคอร์เรนซี เปิดเผยว่า บริษัทจะยุติการดำเนินงานและขายสินทรัพย์ของธนาคารซิลเวอร์เกต แบงก์ (Silvergate Bank) เพื่อชำระหนี้
ซิลเวอร์เกต แบงก์ ถือเป็น 1 ใน 2 ธนาคารหลักสำหรับบริษัทคริปโทฯ ร่วมกับซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) โดยซิลเวอร์เกต แบงก์มีสินทรัพย์ประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับซิกเนเจอร์ที่มีสินทรัพย์มากกว่า 1.14 แสนล้านดอลลาร์ ที่ผ่านมาซิลเวอร์เกต แบงก์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตล้มละลายของเอฟทีเอ็กซ์ (FTX) ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่
ซิลเวอร์เกตเชื่อว่าการระงับการดำเนินงาน และทำการชำระหนี้ เป็นหนทางที่ดีที่สุด เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์ในอุตสาหกรรมคริปโทฯ และการกำกับดูแลกฎระเบียบในช่วงนี้ พร้อมเสริมว่าเงินฝากทั้งหมดจะถูกชำระคืนแบบเต็มจำนวนให้ลูกค้าของธนาคาร
เอฟบีไอชี้”ติ๊กต๊อก”เป็นภัยต่อความมั่นคง
คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐ หรือเอฟบีไอ ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการด้านข่าวกรองประจำวุฒิสภา ว่ารัฐบาลจีนอาจใช้แอปติ๊กต๊อก (TikTok) เพื่อควบคุมข้อมูลของผู้ใช้งานชาวอเมริกันนับล้านคน และควบคุมซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์นับล้านเครื่อง เพื่อปล่อยข้อมูลเท็จให้คนอเมริกันเกิดความแตกแยกในเรื่องไต้หวันและในประเด็นอื่นๆ
เจ้าหน้าที่ข่าวกรองระดับสูงของสหรัฐ รวมถึงผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ, ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐ และผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ ต่างเห็นพ้องว่าติ๊กต๊อกเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ
ก่อนหน้านี้ ทำเนียบขาวเพิ่งสนับสนุนร่างกฎหมายเพื่อให้อำนาจประธานาธิบดีโจ ไบเดน แบนเทคโนโลยีต่างชาติที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคง รวมถึงติ๊กต๊อก ซึ่งเป็นแอปโซเชียลมีเดียของบริษัทไบต์แดนซ์จากจีน ที่มีชาวอเมริกันใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน
เจ้าของ “ช้อปปี้” รายงานกำไรครั้งแรก
บริษัทซี (Sea) แห่งสิงคโปร์ ซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจช้อปปี้ (Shopee) รายงานกำไรสุทธิรายไตรมาสเป็นครั้งแรกตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2552 ด้วยกำไรสุทธิ 422.8 ล้านดอลลาร์สำหรับไตรมาส 4 ปีที่แล้ว
กำไรสุทธิครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลดค่าใช้จ่ายด้านการขายและการตลาด 746 ล้านดอลลาร์ หลังจากฝ่ายบริหารบริษัทเกมและอีคอมเมิร์ซรายนี้ ประกาศลดต้นทุนครั้งใหญ่เพื่อชดเชยอุปสงค์ที่ซบเซาหลังยุคโควิด
ซีเติบโตอย่างพุ่งลิ่วเมื่อปี 2563 และ 2564 ในช่วงที่มีอุปสงค์มากมายตอนโควิดระบาด จนช่วยหนุนนำรายได้ และสามารถขยายเข้าไปยังเม็กซิโกกับสเปน แต่การเติบโตชะลอลงตามภาพรวมอีคอมเมิร์ซและความบันเทิงทางดิจิทัล ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาดของบริษัทก็ลดลงเหลือ 37,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากทะยานขึ้นสู่ระดับมากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงพีคสุดเมื่อปลายปี 2564
ฟอร์ดหั่นราคารถยนต์ไฟฟ้าตามรอยเทสลา
บริษัทฟอร์ด มอเตอร์ ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐ ประกาศจะลดราคารถยนต์ไฟฟ้าเอสยูวี รุ่นมัสแตง มัค-อี (Mustang Mach-E) ในจีน ลง 40,000 หยวน หรือประมาณ 200,000 บาท จนถึงสิ้นเดือนเม.ย.
หลังจากลดราคาแล้ว รถยนต์รุ่นมัสแตง มัค-อี ในจีน จะมีราคาอยู่ที่ 209,900 หยวนหรือประมาณ 1 ล้านบาท
ฟอร์ดลดราคารุ่นนี้ในตลาดสหรัฐลงมากถึง 5,900 ดอลลาร์ หรือประมาณ 200,000 บาทเช่นกัน หลังจากเทสลา ซึ่งเป็นคู่แข่ง ลดราคารถครอสโอเวอร์ รุ่นโมเดลวาย (Model Y) อันเป็นรุ่นขายดีที่สุดของบริษัท
ข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน ระบุว่า ยอดขายรถรุ่นมัสแตง มัค-อีในจีนเมื่อปีที่แล้ว มีจำนวน 7,782 คัน ขณะที่เทสลาขายรถรุ่นโมเดลวายในจีนไปได้ 455,091 คัน
หญิงอินเดียกู้เงินทำธุรกิจเพิ่ม 3 เท่า
รายงานของบริษัทวิจัยสินเชื่อ “ทรานส์ยูเนียน ซีบิล” ระบุว่าจำนวนผู้หญิงที่ขอกู้เงินไปสร้างธุรกิจของตัวเอง เพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยจำนวนผู้กู้ยืมที่เป็นสตรีมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 15% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะจำนวนผู้กู้ยืมที่เป็นผู้ชายมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 11%
จากการวิเคราะห์ล่าสุดพบว่าสตรีทั่วอินเดีย ทั้งในพื้นที่ชนบท และกึ่งเมืองกึ่งชนบท พากันไปขอสินเชื่อจำนวนมาก ทำให้สัดส่วนผู้กู้ยืมที่เป็นหญิงเพิ่มขึ้นจาก 25% เมื่อปี 2560 เป็น 28% ในปี 2565
รายงานยังระบุด้วยว่า ผู้หญิงจำนวนมากขึ้นที่กู้เงินมาทำธุรกิจ สะท้อนถึงการขยายตัวของสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งโดยสตรีในอินเดีย