ความตึงเครียดในตะวันออกกลางก่อให้เกิดคำถามว่า แล้วจะมีการทำสงครามกับอิหร่านหรือไม่ หลังจากนายพลคาเซม โซเลมานี ถูกลอบสังหาร แล้วอิหร่าน”เอาคืน”ด้วยการยิงขีปนาวุธ 15 ลูกเข้าใส่ฐานทัพที่ทหารอเมริกันพำนักอยู่ในอิรัก
การโจมตีของอิหร่านเต็มไปด้วยสัญลักษณ์ เพราะมีการยิงเวลาประมาณ 1.30 น. อันเป็นเวลาเดียวกับที่นายพลโซเลมานีถูกลอบสังหาร นอกจากนั้น อิหร่านยังทวีตรูปธงชาติในช่วงปฏิบัติการโจมตี แบบเดียวกับที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ ทวีตหลังจากมีข่าวว่านายพลโซเลมานีเสียชีวิต
ดูเหมือนการโจมตีได้รับการวางแผนอย่างดีเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิต เพราะยิงเข้าใส่ฐานทัพที่มีการเตรียมพร้อมในระดับสูงอยู่แล้ว แม้สื่ออิหร่านรายงานว่าทหารอเมริกันเสียชีวิต 80 นาย แต่ผู้นำสหรัฐแถลงว่าไม่เกิดความเสียหายต่อชีวิตทหารอเมริกันและทหารอิรัก
รัฐมนตรีต่างประเทศอิหร่านระบุว่าการโจมตีดังกล่าว เป็นการป้องกันตัวภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่เป็นการโจมตีเพื่อเปิดสงคราม
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐ แสดงท่าทีในการแถลงข่าวหลังเหตุโจมตีฐานทัพอเมริกันในอิรัก ว่าจะไม่มีการใช้กำลังทางทหารเพิ่มเติมกับอิหร่าน แต่จะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ และเรียกร้องให้ดำเนินความพยายามทางการทูตครั้งใหม่ ด้วยการขอให้บรรดาพันธมิตรนาโตเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในตะวันออกกลาง
นักวิเคราะห์บางคนมองว่าการโจมตีของอิหร่าน อาจเป็นจุดสิ้นสุดความขัดแย้งเฉพาะหน้า มากกว่าจะเป็นการเปิดฉากการเผชิญหน้าที่อาจลุกลามกลายเป็นสงครามเต็มรูปแบบ และอาจเป็นวิธีรักษาหน้าสำหรับอิหร่านหลังจากนายพลคนสำคัญถูกลอบสังหาร
อดีตนักการทูตคนหนึ่งของสหรัฐ มองว่าอิหร่านไม่มีแนวโน้มจะประกาศสงครามโดยตรงกับสหรัฐ แต่อาจคอยลอบโจมตีและใช้สงครามตัวแทน
ในทำนองเดียวกัน Tom Countryman อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ เชื่อว่าไม่มีแนวโน้มที่อิหร่านจะประกาศสงครามเต็มรูปแบบกับสหรัฐ เพราะอิหร่านจะไม่ได้อะไรมากนักจากการกระทำดังกล่าว มีแต่จะเสียหากสู้รบโดยตรงกับสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสูญเสียกำลังทหาร หรือสูญเสียเสียงสนับสนุนให้ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตร
Mark Gunzinger อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เห็นคล้องกันว่า “การประกาศสงคราม” เป็นแนวคิดแบบเก่า แต่อาจมีการลงมือก่อเหตุรุนแรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางทหารหรือพลเรือน
นอกจากนั้น ยังไม่มีแนวโน้มว่าอิหร่านจะใช้ทหารของตัวเองโดยตรง เพราะอิหร่านมีกลุ่มพันธมิตรอยู่มากมาย หรือที่เรียกว่า”ตัวแทน”
Gunzinger ยังเชื่อว่าอิหร่านมีแนวโน้มจะวางแผนการระยะยาว เพราะความพยายามทำอะไรที่ตูมตาม อย่างปิดช่องแคบเฮอร์มุซ หรือระดมกำลังทหารจำนวนมากมาสู้รบ จะถูกประณามและถูกประเทศต่างๆ ส่งกำลังมาปราบอย่างราบคาบ
ด้านผู้นำนิกายชีอะห์ในอิรัก เรียกร้องกลุ่มต่างๆ ว่าอย่าโจมตีสหรัฐเพื่อเป็นการแก้แค้น จนกว่าจะหมดวิธีการแก้ไขทางการเมือง ทางสภา และทางช่องทางระหว่างประเทศ หลังจากทรัมป์ระบุว่าจะไม่ใช้กำลังทางทหารเพิ่มเติมกับอิหร่าน
สำหรับประเทศอื่นอย่างรัสเซียกับจีนนั้น อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงแห่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐ มองว่าจะยังแสดงความวิตกเกี่ยวกับสถานการณ์ และไม่ค่อยจะได้อะไรในระยะยาวหากแสดงท่าทีชัดเจนอะไรออกไป เพราะจะยิ่งทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลาง ไร้เสถียรภาพ