HomeCOVID-19ส่องมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ของอาเซียน

ส่องมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ของอาเซียน

ในบรรดาภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ดูจะเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างหนักหน่วงสาหัส

โดยนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญ แสดงความเห็นว่า สาเหตุเป็นเพราะ ชาติอาเซียนส่วนใหญ๋ พึ่งพารายได้จากการส่งออก ท่องเที่ยว และการบินเป็นหลัก ซึ่งมาตรการที่ชาติอาเซียนนำมาใช้ มีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว ครอบคลุมด้านการเงินการคลัง และการแจกเงินโดยตรงให้แก่พลเรือนของประเทศ และ Business Todayได้นำมารวบรวมเพื่อได้ลองเปรียบเทียบ และศึกษาดูว่า ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียของไทยเรา เดินหน้าบริหารจัดการไปในทิศทางใดบ้างแล้ว

สิงคโปร์

- Advertisement -

จนถึงวันนี้ รัฐบาลอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศแล้ว 3 ครั้ง รวมแล้วกว่า 41,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.366 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 12% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) พร้อมจัดมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านงบประมาณรายจ่ายปี 2020 วงเงิน 83,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้นงบประมาณประจำปี 2019 ถึง 7% ควบคู่กับการจัดสรรเงินจากงบประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในการควบคุมการระบาดของไวรัสและสนับสนุนการทำงานแนวหน้าของบุคคลากรทางการแพทย์

ในส่วนของมาตรการระยะสั้น รัฐบาลจัดสรรงบ 4,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ภายใต้มาตรการการสร้างเสถียรภาพและการสนับสนุน (Stabilisation and Support Package) โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือธุรกิจที่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวเพื่อให้สามารถจ้างงานต่อไปได้ ซึ่งประกอบด้วย

  •  โครงการ Jobs Support Scheme จ่ายเงินชดเชยค่าจ้างแรงงานท้องถิ่น 8% ของ แต่ไม่เกิน 3,600 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน ให้กับนายจ้าง โดยจะเริ่มภายในเดือนเมษายน 2020
  • โครงการ Wage Credit Scheme รัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนด้านต้นทุนค่าจ้าง 15% แก่ผู้ประกอบการที่มีการขึ้นค่าจ้างรายเดือน อย่างน้อย 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ ให้แก่แรงงานชาวสิงคโปร์ที่มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 5,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ จากเดิม 4,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และ ให้ความช่วยเหลือบริษัทท้องถิ่นในอัตรา 75% ของเงินเดือนเฉลี่ยชาวสิงคโปร์ที่ 4,600 เหรียญสิงคโปร์
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านกระแสเงินสดหมุนเวียน ให้ลดหย่อนภาษีเงินนิติบุคคล ปีบัญชี 2020 ได้ 25% แต่ไม่เกิน 15,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อบริษัท และยังได้ปรับเพิ่มวงเงินกู้ของ ธุรกิจ SMEs จาก 300,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ เป็น 600,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ และเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันเงินกู้จาก 50-70 % เป็น 80 %
  • รัฐบาลจะคงอัตราภาษีสินค้าและบริการ(GST)ไว้ที่ 7% จากเดิมที่จะขึ้นเป็น 9% ปีนี้ไปจนถึงปี 2021 และเตรียมวงเงิน 6 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์รองรับการปรับ GST ในปี 2022
  • การแจกเงินให้แก่ผู้ใหญ่ชาวสิงคโปร์ รายละ 417.7 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 13,688 บาท)
  • ภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจที่พัก ห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยงและศูนย์แสดงสินค้าจะได้รับการลดหย่อนภาษีทรัพย์สินใน อัตรา 30% ส่วนท่าเรือเฟอรี่และเรือสำราญระหว่างประเทศ ได้รับการลดหย่อนภาษีทรัพย์สินใน อัตรา 15% ส่วนรีสอร์ตได้รับการลดหย่อนภาษีทรัพย์สินใน อัตรา 10%
  •  เตรียมวงเงิน 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อปล่อยกู้ธุรกิจในภาคท่องเที่ยวในอัตราดอกเบี้ย 5% โดยรัฐรค้ำประกันเงินกู้ 80 %
  • ภาคการบิน สนามบิน Changi จะได้รับการลดหย่อนภาษีทรัพย์สิน15% รวมถึงเงิน ชดเชยสำหรับการลงจอดเครื่องบิน ค่าจอดรถ ค่าเช่าสำหรับร้านค้า บริษัทตัวแทนขนส่งสินค้าที่สนามบิน Changi และบริษัทตัวแทนการจัดการภาคพื้นดิน
  • ผู้ประกอบการที่อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงาน National Environment Agency (NEA) จะได้รับยกเว้นค่าเช่าเต็มเดือน
  • ภาคขนส่ง เตรียมวงเงิน 55 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ช่วยเหลือคนขับรถแท็กซี่และบริการขนส่งส่วนตัว

มาเลเซีย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียได้ออกมาตรการวงเงิน 4,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุน

สำหรับมาตรการเยียวยาผลกระทบที่มีผลในทันทีก็คือ การผ่อนปรนขยายเวลาชำระภาษีออกไป 6 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ให้แก่ธุรกิจในภาคการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สายการบิน และบริษัทท่องเที่ยว รวมถึงเตรียมแจกคูปองส่วนลดวงเงิน 113 ล้านดอลลาร์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังมุ่งช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) โดยเน้นไปที่การเสริมสภาพคล่อง ซึ่งหมายรวมถึง

  •  ธนาคารกลางมาเลเซียจัดเตรียมวงเงินกู้ 453 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ SMEs ผ่านธนาคารพาณิชย์ ซึ่ง SME แต่ละรายสามารถขอกู้ได้ถึง 226,000 ดอลลาร์สหรัฐในอัตราดอกเบี้ย 3.75% ระยะเวลาการกู้นานถึง 5.5 ปี โดยรัฐค้ำประกันเงินกู้ 80 %
  • ธนาคารกลางเตรียมโครงการเงินกู้ 226 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ SMEs ในธุรกิจผลิตอาหาร ซึ่ง SME แต่ละรายสามารถขอกู้ได้ถึง 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตราดอกเบี้ย 3.75% ระยะเวลาการกู้นานถึง 8 ปี
  • รัฐบาลเตรียมวงเงิน 43 ล้านดอลสหรัฐลาร์ เป็นเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดย่อมในภาคการท่องเที่ยว และอีก 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้ SMEs ในภาคเกษตรเพื่อส่งเสริมให้จำหน่ายพืชผลผ่านอีคอมเมิร์ซ
  • ขอความร่วมมือสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้หรือเลื่อนระยะเวลาชำระหนี้ออกไป หรือพักชำระหนี้ และมีวงเงิน 45 ล้านดอลลาร์สำหรับธุรกิจในการพัฒนาทักษะแรงงาน
  • แจกเงิน 45 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ให้ครัวเรือนรายได้น้อย พร้อมลดเงินจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้างจากปัจจุบัน 7-11% ลงมาที่ 4% เพื่อให้มีเงินสดหมุนเวียนในมือครัวเรือนเพิ่มขึ้นราว 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • รัฐบาลจะเข้าไปลงทุนพัฒนาโครงการพื้นฐานขนาดเล็กในวงเงิน 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น การซ่อมถนน สะพาน ไฟส่องถนน ระบบน้ำเสีย และระบบส่งน้ำ ทั้งในส่วนกลาง ในแต่ละรัฐและท้องถิ่น เพื่อช่วยเหลือผู้รับเหมาก่อสร้างรายเล็ก
  • ยกเว้นภาษีการขายและภาษีนำเข้าให้กับเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับผู้บริหารท่าเรือที่ต้องนำเข้าเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในงานของท่าเรือ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2020 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2023
  • ตลาดหลักทรัพย์มาเลเซียประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียน ในกระดาน LEAP หรือ ACE ให้กับบริษัทที่จะเข้าใหม่ หรือบริษัทที่มีมูลค่าตลาดต่ำกว่า 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐที่จะเข้าจดทะเบียนในกระดานหลัก

อินโดนีเซีย

จนถึงขณะนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกมาตรการมาแล้ว 2 ชุด ชุดแรกออกมาเดือนกุมภาพันธ์วงเงินรวม 725 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนชุดที่สองที่ออกในเดือนมีนาคมมีวงเงิน 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยทั้งสองมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย มีเป้าหมายหลักเพื่อปกป้องเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงให้สิทธิประโยชน์ทางการเงินแก่ธุรกิจท่องเที่ยว สายการบิน และอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือจากการให้เงินอุดหนุน การลดภาษี และสิทธิประโยชน์ด้านการว่างงาน เพียงแต่มาตรการชุดที่สองจะมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี)

ทั้งนี้ ในส่วนของสิทธิประโยชน์แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสายการบิน หลังกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุนคาดว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศสูญเสียราว 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากการระบาดของไวรัส รัฐบาลอินโดนีเซียได้เตรียมวงเงิน 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองรับธุรกิจสายการบินและตัวแทนท่องเที่ยว พร้อมจัดสรรเงิน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการทำการตลาดและส่งเสริมการท่องเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

นอกจากนี้ยังให้ส่วนลดคิดเป็นมูลค่า 27 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนักท่องเที่ยวในประเทศที่ไปเยือน 1 ใน 10 แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ที่รัฐบาลส่งเสริม ซึ่งเทียบเท่าการให้ส่วนลด 30% สำหรับเที่ยวบินในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2020 และโรงแรมและร้านอาหารในสถานที่ท่องเที่ยวทั้ง 10 แห่ง จะได้รับการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 6 เดือน

โดยแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 10 แห่งได้แก่ เดนปาซาร์ บาตัม บินตัน มานาโด ยอร์กจาการ์ต้า ลาบวน บาโจ เบลิตัง ลอมบอก มาลัง

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้จัดเตรียมเงิน 324 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้โครงการจัดหาอาหารสำหรับกลุ่มรายได้น้อย 15 ล้านครัวเรือนเพื่อนำไปใช้จ่ายในการซื้ออาหารและสินค้าจำเป็นในราคาส่วนลด และแจกเงินครัวเรือนรายได้น้อยครัวเรือนละ 13.97 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือนเป็นเวลา 6 เดือน

นอกจากนี้ ยังได้จัดเตรียมวงเงิน 104 ล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินอุดหนุนโครงการสร้างบ้านเอื้ออาทร ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างบ้านใหม่ได้ 175,000 หลัง และ อีก 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐไว้สำหรับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้จัดเตรียมแนวทางช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเฉพาะในภาคการผลิต ด้วยการสั่งลดอัตราภาษีเงินได้ลง 30% สำหรับธุรกิจใน 19 อุตสาหกรรมการผลิตตลอดเวลา 6 เดือน และขยายเวลาการชำระภาษีนำเข้าของทั้ง 19 อุตสาหกรรมไป 6 เดือนเช่นกัน รวมถึงผ่อนปรนการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 6 เดือน

ขณะที่ ลูกจ้างของทั้ง 19 อุตสาหกรรมนี้ที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 13,000 ดอลลาร์จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ 6 เดือน ส่วนธุรกิจ SMEs ที่มีประวัติดีสามารถขอเงินกู้ได้ถึง 655,000 ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลอินโดนีเซียนำมาใช้ควบคู่ไปด้วย ประกอบด้วย การปรับปรุงระเบียบการส่งออกและการนำเข้าให้ผ่อนคลายขึ้นโดยเฉพาะการนำเข้าวัตถุดิบ โดยจะยกเลิกพิกัดศุลกากร 749 รายการ รวมทั้งจะเร่งระยะเวลาพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าและส่งออกสำหรับผู้ค้าที่มีประวัติดีให้เร็วขึ้น

เวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามเตรียมมาตรการวงเงิน 1,160 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเยียวยาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่ทำให้เกิดภาวะหยุดชะงัก จนมีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 5.96% จากเป้าการเติบโตที่รัฐบาลลตั้งไว้ที่ 6.8%

ทั้งนี้ เวียดนามได้ขยายระยะเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไป 5 เดือนสำหรับธุรกิจในภาคเกษตร ผลิตรองเท้า รถยนต์ การบิน สิ่งทอ อิล็กทรอนิคส์ แปรรูปอาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็นเงินภาษีราว 974 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งขยายเวลาการชำระค่าธรรมเนียมการใช้ที่ดินออกไปจนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2021

ด้าน ธนาคารกลางเวียดนามได้ลดอัตราดอกเบี้ย 0.5- 1 %ของในเดือนกุมภาพันธ์ และการเตรียมวงเงินสินเชื่อ 12,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับธุรกิจที่ได้ผลกระทบ และได้ขอให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยตาม

กัมพูชา

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลกัมพูชาได้ประกาศมาตรการช่วยเหลือแภ่ภาคธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมทั้งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสิทธิทางภาษี (จีเอสพี) จากสหภาพยุโรปด้วย เนื่องจากผู้ส่งออกสินค้า 30 รายการต้องชำระภาษีเต็ม

โดยในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้า รัฐบาลกัมพูชาจะยกเว้นภาษี 6 เดือน ถึง 1 ปี สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสและได้รับผลจากการตัดสิทธิภาษีจะได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่ กรมศุลกากรจะอำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และเครื่องตกแต่งสำหรับธุรกิจสิ่งทอและการ์เม้นท์ ที่กำลังขาดแคลนวัตถุดิบ อันเนื่องจากการระบาดของไวรัส

สำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รัฐบาลจะยกเว้นภาษีเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม 2020 ให้แก่ โรงแรมและเกสต์เฮ้าส์ในเสียมเรียบ ขณะที่ ธุรกิจท่องเที่ยวในพนมเปญ เสียมเรียบ กำปอต ปอยเปต แกบ บาเว็ด สีหนุวิลล์ จะได้รับการยกเว้นภาษีถึงพฤษภาคม 2020

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะจ่ายเงินค่าจ้างขั้นต่ำให้ 20% สำหรับลูกจ้างที่ตกงานในธุรกิจท่องเที่ยวทั้ง โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหารและบริษัทท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์นครวัดนครธม ด้วยการขยายการใช้ตั๋วเข้าชม โดยตั๋ว 1 วันสามารถเข้าชมได้ 2 วันตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2020 ตั๋ว 3 วันจะใช้เข้าชมได้ 5 วัน และตั๋ว 7 วันจะใช้ได้ 10 วัน

นอกจากนี้รัฐบาลจะยกเว้นค่าอาการแสตมป์ 4% การโอนที่อยู่อาศัยเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ถึงมกราคม 2021 สำหรับที่อยู่อาศัยมูลค่าต่ำกว่า 70,000 ดอลลาร์สหรัฐ และต้องรับโอนจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการคลัง พร้อมเตรียมเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่ธุรกิจ SMEs ในภาคเกษตร ผ่านธนาคารพัฒนาชนบท

เมียนมา

กระทรวงวางแผน การคลังและอุตสาหกรรมออกคำสั่งวันที่ 18 มีนาคม 2020 ให้ความช่วยเหลือธุรกิจสิ่งทอประเภท cut-make-pack (CMP) โรงแรม บริษัทท่องเที่ยว และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะจัดอยู่ในภาคธุรกิจสำคัญ โดยรัฐบาลจะจัดตั้งกองทุน 72 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อปล่อยกู้ให้บริษัทในเมียนมาที่อยู่ในภาคธุรกิจสำคัญในอัตราดอกเบี้ย 1% ระยะเวลาชำระคืน 1 ปี โดยมีธนาคารเมียนมาอีโคโนมิกเป็นผู้บริหารกองทุน

ขณะเดียวกัน บริษัทในภาคธุรกิจสำคัญจะได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระภาษีไตรมาส 1 สิ้นสุด 31 มีนาคม 2020 และไตรมาส 2 สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2020 ไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2020 สำหรับรอบปีบัญชี 2019-2020 และขยายระยะเวลาชำระภาษีการค้าประจำเดือนไปถึงวันที่ 30 กันยายน 2020 และของงวดสิ้นสุด 31 มีนาคม 2020 จะขยายไปถึง 31 สิงหาคม 2020

ด้านธุรกิจส่งออกของเมียนมาจะได้รับการยกเว้นภาษีก้าวหน้า 2% ไปจนถึงสิ้นปีงบประมาณ วันที่ 30 กันยายน 2020

นอกจากนี้ ทางธนาคารกลางเมียนมาได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ชั้นดีของธนาคารใหญ่ลดลงมาที่ 11.5% สำหรับเงินกู้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

ขณะที่กระทรวงแรงงานเมียนมา ได้ออกคำสั่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ขยายเวลาจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของทั้งนายจ้างและลูกจ้างออกไป 15 วันนับจากวันสิ้นเดือนเป็นเวลา 3 เดือน

ลาว

เมื่อวันที่ 2 เมษายน นายกรัฐมนตรีลาวได้ออกประกาศมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สำหรับธุรกิจในประเทศ เพิ่มเติมหลังจากที่กระทรวงการคลังได้ขยายระยะเวลาการส่งงบการเงินจากวันที่ 30 มีนาคม 2020 ไปเป็นวันที่ 30 เมษายน 2020

การตัดสินใจของผู้นำลาวยังมีขึ้นหลังจากที่ทางธนาคารกลางได้ออกมาตรการแนวทางแก่สถาบันการเงินในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ซึ่งครอบคลุมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ การปรับปรุงเงื่อนไขการชำระเงินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย การพักชำระหนี้ 1 ปี การให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้

ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมของรัฐบาลลาว ประกอบด้วย การยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินเดือนของลูกจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับฐานเงินเดือนต่ำกว่า 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ การขยายระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม และการยกเว้นภาษีกำไรของธุรกิจรายย่อย(micro-enterprises) ทั้งหมดเป็นระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนเมษายนถึงมิถุนายน

นอกจากนี้ รัฐบาลลาวยังได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศุลกากร ภาษี และอื่นๆ สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการป้องกัน ควบคุม และเตรียมความพร้อมรับมือกัยการระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน ก็เลื่อนการชำระภาษีของผู้ประกอบการธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สำหรับเดือนเมษายนถึงมิถุนายนเลื่อนการชำระภาษีใช้ถนนประจำปีออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2020

รัฐบาลลาวยังเตรียมพิจารณามาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าทั้งประชาชนทั่วไปและธุรกิจและข้อเสนอของธนาคารกลางในการลดอัตราสำรองของธนาคารพาณิชย์เอกชน

ที่มา Reuters, AP, The Straits Times, AFP, Vietnam News, The Jakarta Post, Thaipublica

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ประมวลมาตรการทางเศรษฐกิจสู้ไวรัสโควิด-19 ของนานาประเทศ

เปิดแผนเยียวยาโควิด-19 มูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ของพี่เบิ้มสหรัฐฯ

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News