กูเกิลเปิดตัว “Bard” คู่แข่ง ChatGPT
กูเกิลเปิดตัวเครื่องมือแชทบอท “Bard” ซึ่งชัดเจนว่ามาเพื่อแข่งขันกับ ChatGPT
Sundar Pichai ซีอีโอกูเกิลและ Alphabet ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของกูเกิล โพสต์ในบล็อคว่ามีการเริ่มทดลอง Bard เมื่อวันจันทร์ โดยมีแผนเปิดตัวแก่สาธารณชนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
Bard มีลักษณะคล้าย ChatGPT ที่เปิดตัวไปเมื่อปลายเดือนพ.ย.ปีที่แล้วโดยบริษัท OpenAI
Bard สร้างขึ้นจากโมเดลภาษาจำนวนมหึมา ด้วยการนำข้อมูลมากมายที่อยู่ในออนไลน์มาฝึกโมเดลเหล่านี้ เพื่อให้สามารถโต้ตอบได้อย่างเหมาะสมกับผู้ใช้งาน
การเคลื่อนไหวครั้งนี้มีขึ้น หลังจากมีการมองว่าเครื่องมือสืบค้นออนไลน์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของกูเกิล กำลังเผชิญการท้าทาย เพราะหลังจากเปิดตัวออกสู่สาธารณชนได้เพียง 2 เดือน มีการใช้ ChatGPT เพื่อเขียนเรียงความ เขียนเรื่องราวต่างๆ ไปจนถึงเขียนเนื้อเพลง และตอบคำถามบางอย่างที่แต่เดิมผู้คนอาจค้นหาได้จากการเสิร์ชในกูเกิล
มีข่าวว่า การที่ ChatGPT ได้รับความสนใจอย่างมหาศาล ทำให้ผู้บริหารของกูเกิลถึงขั้นประกาศ “code red” สำหรับธุรกิจสืบค้นข้อมูล โดย Paul Buchheit หนึ่งในผู้พัฒนา Gmail ทวีตว่ากูเกิลอาจถูก”disrupt” ในอีก 1-2 ปีจากการผงาดขึ้นมาของ AI
ทั้งนี้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่สนับสนุน Bard มาเป็นเวลาพักใหญ่แล้ว แต่ไม่ได้เปิดตัวสู่สาธารณะ โดยเมื่อ 2 ปีที่แล้วกูเกิลได้พัฒนาโมเดลภาษาสำหรับการสนทนา อันเป็นระบบ AI ขนาดใหญ่ของกูเกิลที่เรียนรู้การสร้างภาษาผ่านบทสนทนาเพื่อต่อบทสนทนา (Language Model for Dialogue Applications หรือ LaMDA) พร้อมระบุว่าจะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้พัฒนา Bard
กูเกิลโพสต์ว่าสามารถใช้ Bard เพื่อเปรียบเทียบภาพยนตร์ 2 เรื่องที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ หรือเสนอไอเดียทำอาหารเมื่อป้อนข้อมูลลงไปว่าในตู้เย็นมีวัตถุดิบอะไรบ้าง
นักท่องเที่ยวจีนแห่เข้าฮ่องกงหลังเปิดพรมแดนเต็มรูปแบบ
นักเดินทางหลายหมื่นคนพากันสัญจรไปมาระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ (6 กพ.) อันเป็นวันแรกในรอบ 3 ปีที่มีการเปิดด่านผ่านแดนทุกด่านอย่างเต็มรูปแบบ โดยปราศจากข้อจำกัดเกี่ยวกับโควิด
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จีนประกาศว่าการเดินทางข้ามแดนระหว่างแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงและมาเก๊า จะกลับมาเปิดอย่างเต็มที่ในวันที่ 6 ก.พ. โดยยกเลิกระบบโควตาและการตรวจโควิด
บริเวณด้านนอกจุดตรวจเซินเจิ้น มีการประดับประดาโคมหลายร้อยโคม พร้อมแผ่นป้ายข้อความขนาดใหญ่ เฉลิมฉลองการเปิดการเดินทางไปมาหาสู่กันอีกครั้ง
การเปิดจุดผ่านแดนมีขึ้น หลังจากฮ่องกงประกาศแคมเปญโปรโมชั่นครั้งใหญ่ ในชื่อ “Hello Hong Kong” เพื่อดึงนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุน ให้เดินทางเข้าไปยังศูนย์กลางการเงินแห่งนี้ หลังจากใช้มาตรการคุมเข้มโควิดมานานกว่า 3 ปี โดยฮ่องกงลงทุนแจกตั๋วบินฟรี 500,000 ใบแก่นักเดินทาง
สภาพการณ์ดังกล่าวแตกต่างจากช่วง 3 ปีก่อน ที่ฮ่องกงกำหนดให้ผู้ที่เดินทางเข้าเกาะแห่งนี้ ต้องกักตัว 3 สัปดาห์ ทั้งยังมีการคัดกรองและตรวจหาเชื้อ จนกระทั่งกลางปีที่แล้วจึงค่อยๆ เริ่มผ่อนคลายมาตรการ และยกเลิกไปเกือบทั้งหมดในเดือนธ.ค.
จีดีพีอินโดฯโตกว่า5% ปีที่แล้ว
หัวหน้าสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของอินโดนีเซีย เติบโต 5.31% ในปี 2565 ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 และถือเป็นการหวนคืนสู่การเติบโตแบบเดิมกับเมื่อก่อนเกิดโควิด
หัวหน้าสำนักงานสถิติระบุว่า อินโดนีเซียได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาสูงขึ้นในตลาดโลก นอกจากนั้น ในส่วนของในประเทศเองก็มีกิจกรรมสาธารณะมากขึ้น ประกอบกับมีการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังเพื่อรักษากำลังซื้อ
เชื่อว่าการผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิด มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนออกมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันมากขึ้น โดยมีการยกเลิกมาตรการคุมเข้มบางส่วนในไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว จากนั้นจึงยกเลิกทั้งหมดภายในสิ้นปี
ตัวเลขการเติบโตของปีที่แล้ว สอดคล้องกับการคาดหมายของธนาคารกลาง ที่ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ระหว่าง 4.7-5.5% ทั้งยังสูงกว่าเมื่อปี 2564 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัว 3.69%
ข้อมูลระบุว่า การบริโภคในครัวเรือน ยังเป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพี ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิต การค้า การเกษตร และการทำเหมือง ส่วนภาคที่มีการเติบโตมากที่สุดได้แก่ การขนส่ง คลังสินค้า อาหารและเครื่องดื่ม
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนคาดหมายว่าปีนี้เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตน้อยลง เนื่องจากสภาพการณ์ต่างๆ ในโลก ซึ่งอาจทำให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 4.5-5.3% ปีนี้