อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยของสหรัฐ อ่วม เหตุภาษีเก่าและใหม่ที่สหรัฐเก็บจากสินค้านำเข้าแดนมังกร ทำให้ภาคที่อยู่อาศัยแบกต้นทุนเพิ่มอีกกว่า 2,000 ล้านดอลล์
สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ผสานกับการทวีตอย่างเมามันของผู้นำสหรัฐที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนแก่นักลงทุนทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อหลากหลายอุตสาหกรรมของสหรัฐ และทำให้ธุรกิจต่างๆ ต้องหาทางบรรเทาผลกระทบจากภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีนที่สูงขึ้น ผลจากการขึ้นภาษีหลายระลอก
ภาคที่อยู่อาศัย ตกแต่งบ้าน และแม้แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ หนีไม่พ้นจากแรงกดดันเหล่านี้เช่นกัน หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีเพิ่มเติมสินค้านำเข้าจากจีนอีก 300,000 ล้านดอลลาร์ ในจำนวน 10% เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. ซึ่งเมื่อรวมกับการเก็บภาษีรอบก่อนๆ แล้วก็เท่ากับว่าสินค้าจีนเกือบทุกชนิด ถูกจัดเก็บภาษีเพิ่มเติม
สงครามการค้าที่บานปลายกระทบต่อราคาวัสดุในอุตสาหกรรมที่อู่อาศัยของสหรัฐ ซึ่งถูกจัดเก็บภาษีศุลกากรอุปกรณ์นำเข้าจากจีน 25% เมื่อเดือนพ.ค. จนสมาคมผู้ก่อสร้างบ้านถึงกับออกปากว่าเป็นภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยที่คิดเป็นมูลค่าถึง 2,500 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 70,000 ล้านบาท
นักเศรษฐศาสตร์แห่งสมาคมผู้ก่อสร้างบ้านระบุว่า การจัดเก็บภาษีศุลกากรวัสดุก่อสร้างจากจีน มีขึ้นในช่วงที่ศักยภาพการซื้อบ้านในสหรัฐ อยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี สืบเนื่องจากปริมาณบ้านในตลาดที่มีค่อนข้างน้อย บวกกับต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นแรงกดดันขาขึ้นสำหรับราคาบ้าน โดยราคากลางที่อยู่อาศัยพุ่งจาก 252,000 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 265,000 ดอลลาร์ หรือกว่า 8 ล้านบาทเมื่อไตรมาส 2 ของปีที่แล้ว อันนับเป็นราคากลางรายไตรมาสที่สูงที่สุด
อุปกรณ์หลายอย่างที่ใช้ในการตกแต่งหรือสร้างบ้าน-อพาร์ตเมนต์ ไม่ว่าจะเป็นตู้ พื้น ท่อ เครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟ และกระเบื้อง ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากรไปแล้ว ขณะที่การเก็บภาษีศุลกากรจากเฟอร์นิเจอร์นำเข้าจากจีน อาจทำให้ผู้บริโภคอเมริกันต้องควักกระเป๋าเพิ่มปีละ 4,600 ล้านดอลลาร์ หรือกว่าแสนล้านบาท
ต้นทุนที่สูงขึ้นถือเป็นสิ่งท้าทายในการตรึงราคาบ้านให้อยู่ในระดับที่ผู้คนพอซื้อหาได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงต่อการตกสู่ภาวะถดถอย
นอกจากภาคที่อยู่อาศัยแล้ว การขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าอุปโภคบริโภคยังกระทบต่อรายได้ของอุตสาหกรรมค้าปลีก อันหมายความถึงข่าวร้ายและการล้มละลายระลอกใหม่ รวมถึงการท้าท้ายสำหรับอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์
นักวิเคราะห์แห่งบริษัท Herrick ระบุว่าธุรกิจที่เผชิญแรงกดดันมากที่สุดในตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์ คือพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าจากจีนระลอกใหม่ เปรียบเหมือนการเติมเชื้อเพลิงเข้าไปในกองไฟ
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปซื้อของทางออนไลน์มากขึ้น กระหน่ำซ้ำเติมแบรนด์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีรายงานว่าร้าน Forever 21 มีแผนยื่นล้มละลาย ตามรอยร้านดังอย่าง Charlotte Russe และ Gymboree
การขึ้นภาษีศุลกากรสินค้าจากจีน มีแต่จะยิ่งสร้างความบอบช้ำให้แก่ภาคค้าปลีก เพราะประมาณ 40% ของเสื้อผ้าและ 70% ของรองเท้าที่ขายในสหรัฐ ผลิตในจีน
นักวิเคราะห์ชี้ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นแง่ลบต่อบรรดาผู้ค้าปลีก อันส่งผลต่อเนื่องไปถึงบริษัทหรือห้างร้านที่ให้ร้านค้าปลีกเข้าไปเช่าพื้นที่ด้วย
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่ามาตรการขึ้นภาษีอาจส่งผลในระยะยาว Ravi Batra จากภาควิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัย Southern Methodist เชื่อว่ามาตรการขึ้นภาษีจะบีบให้จีนต้องลดราคาสินค้าลง เพราะจีนพึ่งพาตลาดสหรัฐอย่างมาก นอกจากนั้น มาตรการนี้ยังมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสหรัฐด้วย เพราะอัตราเงินเฟ้อลดลง
Batra มองว่าอันตรายสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐไม่ใช่สงครามการค้า แต่เป็นหนี้สินที่สูงเกิน โดยเฉพาะหนี้เพื่อการศึกษาและหนี้บัตรเครดิต รวมถึงความเป็นไปได้ของการเกิดภาวะถดถอย