กลาโหมยูเครนลาออก เซ่นปมคอร์รัปชัน
โอเลกซี เรซนิคอฟ รัฐมนตรีกลาโหมยูเครน ยื่นจดหมายลาออกแก่ประธานสภา หลังจากประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประกาศเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหมในช่วงสงคราม พร้อมเสนอชื่อรุสเตม อูเมรอฟ ประธานกองทุนทรัพย์สินรัฐ เข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่
ประธานาธิบดีเซเลนสกีระบุว่า เรซนิคอฟดูแลการทำสงครามเต็มรูปแบบมานานกว่า 550 วัน เขาเชื่อว่ากระทรวงกลาโหมต้องการแนวทางและรูปแบบใหม่ๆ
การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีกลาโหม มีขึ้นในช่วงที่กองกำลังยูเครนกำลังรุกโต้กลับกองกำลังรัสเซีย ที่เปิดฉากทำสงครามในยูเครนตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2565 และมีขึ้นหลังจากเกิดเรื่องอื้อฉาวคอร์รัปชันพัวพันไปถึงกระทรวงกลาโหม โดยนับจากต้นปีเซเลนสกีได้ปลดเจ้าหน้าที่ระดับสูงไปหลายคน กรณีอื้อฉาวเชื่อมโยงกับการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ต่างๆ ในยามสงคราม ขณะที่รัฐมนตรีช่วยกลาโหมได้ลาออกหลังจากถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชัน
มาเลเซียถอนฟ้องรองนายกฯ ข้อหาทุจริต
มาเลเซียถอนฟ้องรองนายกรัฐมนตรีอาห์หมัด ซาฮิด ฮามิดี หลังจากถูกตั้งข้อหา 47 กระทง รวมถึงใช้กองทุนหรือทรัพย์สินโดยมิชอบ ทุจริต และฟอกเงิน ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวพันกับการใช้เงินในทางมิชอบ ในมูลนิธิที่เขาก่อตั้งขึ้นเพื่อขจัดความยากจน ผู้พิพากษาให้ถอนฟ้องหลังจากอัยการระบุว่าต้องการเวลามากขึ้นในการตรวจสอบหลักฐาน
ด้านรองนายกฯซาฮิดประกาศว่าไม่ได้ทำอะไรผิด พร้อมเสริมว่าข้อกล่าวหาทั้งหลายมีแรงจูงใจทางการเมือง
ทั้งนี้ ซาฮิดถูกตั้งข้อหาเมื่อปี 2561 หลังจากพรรคอัมโนสูญเสียอำนาจเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เพราะประชาชนไม่พอใจเรื่องการรับสินบนและเรื่องอื้อฉาวยักยอกเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาของรัฐ 1MDB
ในการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว กลุ่มของอันวาร์ อิบราฮิม ได้คะแนนไม่พอจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด จึงเจรจากับพรรคอัมโนรวมถึงพรรคอื่นเพื่อตั้งรัฐบาล ทั้งนี้ กลุ่มของอันวาร์ได้หาเสียงชูประเด็นแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งการถอนฟ้องซาฮิดครั้งนี้อาจจุดกระแสวิตกเกี่ยวกับหลายคดีที่นักการเมืองชื่อดังเข้าไปพัวพัน รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ซึ่งกำลังถูกจำคุก 12 ปีในคดีหนึ่งที่เชื่อมโยงกับ 1MDB และยังต้องขึ้นรับการพิจารณาอีกหลายคดี
ครูเกาหลีใต้ชุมนุมประท้วง ถูกผู้ปกครอง-นร.คุกคาม
ครูในเกาหลีใต้ประมาณ 15,000 คนแต่งกายชุดสีดำ ร่วมกันชุมนุมประท้วง กรณีถูกคุกคามจากผู้ปกครองและนักเรียน รวมถึงถูกกล่าวหาว่าทารุณเด็กตอนลงโทษทางวินัยนักเรียน จนทำให้ครูบางคนต้องจบชีวิตตัวเอง
การชุมนุมมีขึ้นหน้าอาคารรัฐสภาในกรุงโซล ส่วนเมืองอื่นทั่วประเทศก็มีการชุมนุมเช่นกัน โดยบางโรงเรียนปิดการเรียนการสอน ทั้งที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
การเคลื่อนไหวของครูในครั้งนี้ มีชนวนมาจากการเสียชีวิตของครูประถมวัย 23 ปี ที่จบชีวิตตัวเองในโรงเรียนเมื่อเดือนก.ค. หลังจากระบายความอัดอั้นว่าถูกผู้ปกครองร้องเรียน นับจากนั้นครูทั่วประเทศได้ชุมนุมกันทุกสุดสัปดาห์เพื่อไว้อาลัยให้ครูสาวและเรียกร้องให้ปรับปรุงสิทธิสำหรับครู โดยเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีครูมากถึง 200,000 คนมารวมตัวกันที่กรุงโซล