ฟิทช์หั่นอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐ ชี้หนี้พุ่ง-สถานะคลังถดถอย
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทช์ เรทติงส์ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ด้วยเหตุผลที่มียอดขาดดุลงบประมาณสูงมากและระบบธรรมาภิบาลอ่อนแอลง อันส่งผลให้เผชิญปัญหาหนี้พุ่งชนเพดานหลายครั้งในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ จาก AAA เนื่องจากสถานะการคลังของสหรัฐมีแนวโน้มที่จะถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งภาวะชะงักงันทางการเมืองส่งผลให้หนี้สินของสหรัฐพุ่งชนเพดานหลายครั้ง และส่วนใหญ่รอดพ้นการผิดนัดชำระหนี้ในนาทีสุดท้าย ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้บั่นทอนความเชื่อมั่นด้านการบริหารการคลัง
ขณะที่เจเนต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการลดอันดับของฟิทช์ ด้วยการระบุว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพียงฝ่ายเดียวและยึดข้อมูลที่ล้าสมัย
ธนาคารรัฐแคนซัสไปต่อไม่ไหวเป็นรายที่ 5
ความปั่นป่วนในภาคธนาคารสหรัฐที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีนี้ เข้าไปสู่เมืองเอลก์ฮาร์ต ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในรัฐแคนซัสของสหรัฐ เมื่อธนาคารที่มีสาขา 4 แห่งล้มละลาย กลายเป็นธนาคารแห่งที่ 4 ในปีนี้ที่ผู้กำกับดูแลกฎระเบียบต้องเข้าไปควบคุมกิจการ และนับเป็นธนาคารรายที่ 5 ที่ไปต่อไม่ไหว
Heartland Tri-State Bank นับเป็นธนาคารขนาดเล็กที่สุดที่ล่มสลายลงในปีนี้ ด้วยสินทรัพย์ 139 ล้านดอลลาร์ แตกต่างจากธนาคารรายอื่นที่ไปต่อไม่ไหวในปีนี้ ซึ่งล้วนมีสินทรัพย์มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป รวมถึงซิลิคอนวัลเลย์และซิกเนเจอร์แบงก์
ทั้งนี้ เฟิร์สต์ รีพับลิกซึ่งเป็นธนาคารายใหญ่สุดที่ล้มในปีนี้ มีสินทรัพย์ 229,000 ล้านดอลลาร์ จนกลายเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่อันดับ 2 ของธนาคารสหรัฐ สำหรับซิลิคอนวัลเลย์และซิกเนเจอร์แบงก์ เป็นการล้มละลายใหญ่อันดับ 3 และ 4 ด้านซิลเวอร์เกตตกลงปิดตัวเองไปเมื่อเดือนมี.ค.
สำหรับกรณีล่าสุดนั้น ไม่ชัดเจนว่าเหตุใด Heartland จึงล้มละลาย โดยสำนักงานกรรมาธิการด้านธนาคารประจำรัฐแคนซัสระบุว่า กรรมาธิการลงความเห็นว่า Heartland Tri-State Bank ล้มละลายด้วยเหตุการณ์จำเพาะ และอุตสาหกรรมธนาคารในแคนซัสไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้
โตโยต้ากำไรประวัติการณ์ หลังฟื้นตัวจากโควิด
บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ในญี่ปุ่น รายงานกำไรจากการดำเนินงานในช่วง 3 เดือนที่สิ้นสุดเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากปีก่อน เป็น 1.12 ล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็นกำไรรายไตรมาสที่สูงเป็นประวัติการณ์สำหรับบริษัทญี่ปุ่น ได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินเยนและยอดขายที่แข็งแกร่ง ขณะที่การผลิตฟื้นตัวจากยุคโควิด
ตัวเลขกำไรดังกล่าวนับว่าเพิ่มขึ้น 93.7% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 24.2% เป็น 10.5 ล้านล้านเยน กำไรสุทธิทะยาน 78% เป็น 1.31 ล้านล้านเยน ซึ่งตัวเลขทั้งสองนับว่าสูงเป็นประวัติการณ์สำหรับปีงบประมาณไตรมาสแรก
ผลประกอบการที่สูง สืบเนื่องมาจากการที่โตโยต้าเพิ่มศักยภาพการผลิตทั่วโลก เพื่อชดเชยโอกาสที่สูญเสียไปในช่วงโรคระบาด
BYD เล็งเลิกแผนลงทุนพันล้านในอินเดีย
มีรายงานข่าวว่า BYD ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่สัญชาติจีน แจ้งกับบริษัท Megha Engineering ซึ่งเป็นหุ้นส่วนร่วมทุนในอินเดีย ว่าต้องการจะยกเลิกแผนการลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์เพื่อสร้างโรงงานผลิตรถไฟฟ้า หลังจากผู้ดูแลกฎระเบียบของอินเดียปฏิเสธข้อเสนอตั้งโรงงานร่วมทุน โดยเจ้าหน้าที่จาก 3 กระทรวงของอินเดีย รวมถึงกระทรวงการคลังและกิจการต่างประเทศ ได้หยิบยกประเด็นข้อวิตกด้านความมั่นคงเกี่ยวกับการลงทุนของจีน และแสดงท่าทีไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม BYD ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นเรื่องนี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจีนมองว่าหาก BYD ถอนตัวจากแผนการลงทุน จะเป็นการสูญเสียสำหรับภาคยานยนต์อินเดีย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนสำคัญของการเร่งพัฒนาการผลิตยานยนต์
จีนหวังพึ่งท่องเที่ยวชนบท กระตุ้นการบริโภค
แทนที่จะแจกเงินสด แต่จีนกำลังพยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็นต่อเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้ประกาศมาตรการ 20 ข้อเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ หวังสร้างเสถียรภาพให้แก่การใช้จ่ายสินค้าขนาดใหญ่ที่มีราคา พร้อมแก้ปัญหาในจุดที่อ่อนแอ อย่างตามชนบท
มาตรการส่งเสริมดังกล่าวรวมถึงการอุดหนุนให้นำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่ามาแลกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าใหม่แบบอัจฉริยะ และสนับสนุนการท่องเที่ยวตามชนบท โดยหากการท่องเที่ยวฟื้นตัวก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น
มาตรการใหม่ยังส่งเสริมให้นายจ้าง ให้วันหยุดแบบจ่ายค่าแรงแก่ลูกจ้างมากขึ้น ทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนท่องเที่ยวนอกช่วงเวลาเทศกาล โดยทางการจะโปรโมทการจัดคอนเสิร์ต การแข่งขันกีฬา และกิจกรรมทางวัฒนธรรมอื่นๆ
ทั้งนี้ การท้าทายสำหรับจีน คือพยายามให้ผู้บริโภคเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ จากที่ผ่านมาซึ่งนโยบายกำหนดให้มีรูปแบบการเติบโตที่นำโดยการลงทุน