HomeOpinionsเมื่อไวรัสโคโรนาถล่มจีน และ กระแสข่าวลวง

เมื่อไวรัสโคโรนาถล่มจีน และ กระแสข่าวลวง

คอลัมน์ China Inside-Out

ปีหนูพ่ายโคโรนาอย่างราบคาบ

อันที่จริง รัฐบาลจีนได้เริ่มตรวจพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสหลายสิบรายในเมืองอู่ฮั่นตั้งแต่ช่วงโค้งสุดท้ายของปีที่ผ่านมา ครั้นพอเข้าสู่ช่วงต้นเดือนมกราคมก็พบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเหล่านี้มีไข้ ไอ และอาจแรงไปถึงอาการปอดบวม หายใจติดขัด และหลายรายมีอาการหนักขึ้น แม้ว่าหน่วยงานจีนจะค้บพบว่าโรคใหม่นี้แตกต่างจากซาร์ส (SARS) เมอร์ส (MERS) และไข้หวัดนก (Bird Flu) แต่ก็ยังเป็นปริศนาว่าต้นเหตุของโรคนี้มาจากไวรัสประเภทใด

หลังจากที่เริ่มมีข่าวนี้แพร่ออกมา กระทรวงสาธารณสุขก็ลงพื้นที่พร้อมนักข่าวเพื่อสะท้อนถึงความพร้อมในการเตรียมรับมือกับการระบาดดังกล่าว ผมเห็นผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้เกาะติดสถานการณ์และเริ่มมีมาตรการคัดกรองผู้โดยสารเครื่องบินที่เดินทางมาจากอู่ฮั่นตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม

แม้ว่าจะไม่ชัดว่ามาตรการดังกล่าวดำเนินการในทุกสนามบินที่บินตรงจากอู่ฮั่นหรือเมืองหลักในภูมิภาคนี้หรือไม่ แต่คำสัมภาษณ์ดังกล่าวก็ช่วยสร้างความสบายใจให้กับผมได้ในระดับหนึ่งว่า ไทยเราน่าจะมีมาตรการรองรับคลื่นนักท่องเที่ยวจีนที่จะถาโถมมาไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่จะมาถึงได้

- Advertisement -

ต่อมา วันที่ 9 มกราคมที่รัฐบาลจีนให้ข้อมูลว่า การระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นจากไวรัสโคโรนา (Corona Virus) หลังจากนั้นเพียงสองวัน ก็พบว่ามีผู้เสียชีวิตรายแรกอันเนื่องจากการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวและจากข้อมูลของรัฐบาลจีนก็พบว่า ในวันที่ 15 มกราคมมีการตรวจพบผู้โดยสารชาวจีนติดเชื้อดังกล่าวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งนับเป็นผู้ติดเชื้อนอกจีนเป็นรายแรก ตามมาด้วยญี่ปุ่นในเวลาต่อมา

ในวันที่ 17 มกราคม จีนมีผู้เสียชีวิตรายที่ 2 ขณะเดียวกัน ไทยก็ไม่ยอมน้อยหน้า เพราะตรวจพบผู้ป่วยรายที่ 2 เช่นกัน ทันทีที่กระแสข่าวการติดเชื้อจากคนสู่คนเริ่มหลุดออกมาก็ทำให้หลายประเทศตั้งทีมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและทยอยออกมาตรการป้องกันการระบาดอย่างเข้มงวด

ศูนย์ควบคุมและป้องกันเชื้อโรคของสหรัฐฯ (U.S. Centers for Disease Control and Prevention) สั่งตรวจอุณหภูมิ และสอบถามอาการและข้อมูลอื่น ๆ จากผู้โดยสารเครื่องบินที่บินตรงจากอู่ฮั่นสู่ 3 เมืองสำคัญในสหรัฐฯ เป็นการเร่งด่วน อันได้แก่ สนามบินซานฟรานซิสโก เจเอฟเค (นิวยอร์ก) และลอสแองเจลลิส ขณะที่หลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจในภูมิภาค อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ต่างยกระดับมาตรการคัดกรองและควบคุมผู้คนที่เข้าออก ณ ด่านตรวจคนเข้าเมือง

ความพ่ายแพ้ต่อ “ข่าวปลอม” 

เหตุการณ์ในครั้งนี้ยังเป็นบทเรียนสำคัญของทีมงานโฆษกและผู้ที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลในการทำงานต่อสู้กับวิกฤตินี้และวิกฤติใด ๆ ในอนาคต

ตัวอย่างข่าวปลอมหนึ่งที่ระบุถึงการแสดงความรับผิดชอบของผู้บริหารเมืองอู่ฮั่นที่ปล่อยให้คนอู่ฮั่นหนีออกนอกพื้นที่กว่า 5 ล้านคนก่อนคืนปิดเมือง แถมยังบอกว่าคนเหล่านั้นหลั่งไหลเข้ามาเมืองไทย เป็นอันดับหนึ่งเพราะเดินทางเข้ามาง่ายสุด ประหยัดค่าใช้จ่าย และอีกหลายสารพัดเหตุผลเสริม

ไวรัสโคโรนา

ผลปรากฏว่ารัฐบาลและนักข่าวก็เต้นตามกระแสข่าว โดยไม่กระตุกความคิดและอธิบายให้พี่น้องคนไทยเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง คิดง่าย ๆ เรามีเที่ยวบินของทุกสายการบินระหว่างอู่ฮั่นกับ 5 สนามบินของไทย (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ และกระบี่) รวม 52 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ หากให้มีผู้โดยสารลำละ 200 คน ก็ยังมีคนแค่ระดับ 10,000 คนเศษเท่านั้นที่เข้ามาในแต่ละสัปดาห์ และต้องใช้เวลาราว 1 ปีเพื่อให้มีผู้โดยสารจีนเข้ามาหลักครึ่งล้านคน

บางครั้งเราก็ตกเป็นเครื่องมือให้ไปซ้ำเติมผู้ประสบภัยโดยไม่รู้ตัว คลิปภาพตลาดค้าสัตว์ของประเทศหนึ่งในอาเซียนที่ถูกยัดเยียดให้แก่ตลาดค้าส่งสินค้าประมงหัวหนานของเมืองอู่ฮั่น (Wuhan Huanan Seafood Wholesale Market) พร้อมคำประนามถึงพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีน ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความอ่อนแอของคนไทยในการมองความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในระยะยาว ผมคิดหาเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการปล่อยข่าวปลอมได้เพียงประการเดียว คือ คนเหล่านั้นไม่รักประเทศไทยอย่างที่คนไทยพึงมี

ขณะเดียวกัน การทุ่มเททำงานเพื่อติดตามสถานการณ์และเตรียมการรับมือของรัฐบาลดูจะล้มเหลวในสายตาของประชาชน การแถลงข่าว “เอาอยู่” ของรัฐบาลจากผู้บริหารในหลายระดับยืนยันถึงความพร้อมของระบบการคัดกรอง การกำกับควบคุม และการดูแลรักษานักท่องเที่ยวจีนที่ติดเชื้อไวรัสและเดินทางมาไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีนดูไม่ค่อยเป็นผล ผลการวิจัยของสื่อหลายสำนักระบุว่า ประชาชน “ไม่เชื่อมั่น” ในมาตรการที่มีอยู่ของรัฐ

แม้กระทั่งการตอกย้ำถึง “ความพร้อม” ในการส่งเครื่องบินไปรับคนไทยในอู่ฮั่นกลับบ้านเพื่อเสริมสร้างความนิยมจากภาคประชาชน ก็กลายเป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงและกดดันรัฐบาลเสียเอง จนท้ายที่สุด รัฐบาลต้องออกมาสงบศึกและวิงวอนขอไม่ให้เอาชีวิตของผู้คนมาป่วนประเทศ

การแถลงข่าวและการให้สัมภาษณ์ในหลายเวทีดูเหมือนจะพ่ายแพ้ต่อ “ข่าวปลอม” ในสื่อสังคมออนไลน์ที่กระจายตัวอย่างรวดเร็วในหมู่วัยรุ่นและคนหนุ่มสาวของไทย ส่งผลให้การสื่อสารผ่านหลากหลายสื่อของรัฐบาลมิอาจสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้มากเท่าที่ควร

 

Business Today
Business Todayhttps://businesstoday.co
Supporting Thailand's business communities./ FB Page: Business Today Thai/ Social: Business Today Thai (สำหรับ Twitter, YouTube, Telegram)/ LINE: @Business today/ เว็บที่เกี่ยวข้อง: Thailand Today: www.thailandtoday.co/ FB: Thailantoday.co (English)/ Thailand Today News: www.thailandtoday.news/ FB: Thailandtoday.news (Mandarin Chinese)

Latest

ติดตามข่าวสารอัพเดททันใจจาก Businesstoday ได้โดยกรอกอีเมลด้านล่าง

Related News