นักธุรกิจคงทราบดี ว่าโลกธุรกิจมีการแข่งขันที่ดุเดือดเพียงใด ดังนั้นเพื่อรักษาบัลลังก์ นักธุรกิจจึงต้องมีตาข้างหนึ่งมองไปที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ ส่วนอีกข้างก็เล็งนวัตกรรม พร้อมไปกับสอดส่องดูว่า ปัจจัยอะไรจะขับเคลื่อนธุรกิจในย่างก้าวศักราชใหม่
เทรนด์แรกคือจับกลุ่มคนหนุ่มสาว
คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมอินเทอร์เน็ต ดังนั้นการขยายการตลาดไปยังแพลทฟอร์มดิจิทัล จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ คนรุ่นใหม่มีอิทธิพลแค่ไหนก็ขอให้ดู TikTok แพลทฟอร์มวิดีโอที่เติบโตอย่างบ้าคลั่งในเวลาไม่กี่ปี จนมีจำนวนผู้ใช้งานเป็นประจำ 500 ล้านยูสเซอร์ทั่วโลก ครองอันดับ 9 ของเหล่าโซเชียล และนำหน้า LinkedIn, Twitter, Pinterest รวมถึง Snapchat
ยูทูบพยายามทำการตลาดดิจิทัลเพื่อเข้าถึงคนกลุ่มนี้เช่นกัน การสำรวจของ VidMob พบว่า 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็น Gen Z บอกว่าใช้แอปยูทูบมากขึ้นจากปีก่อน
กระแส”สีเขียว”แรงขึ้น
ผู้คนพากันหันมาใช้ชีวิตแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ราคาหุ้นของ Beyond Meat ผู้ผลิตโปรตีนจากพืช พุ่งขึ้นกว่า 3 เท่าตั้งแต่ทำไอพีโอหรือนำหุ้นออกขายต่อสาธารณชน แต่สำหรับผู้บริโภคแล้ว ไลฟ์สไตล์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไม่ได้หยุดอยู่ที่การกินเท่านั้น เพราะยังมี Lunya ผู้ผลิตเสื้อผ้าผู้หญิง ที่ผลิตเสื้อผ้าจากเส้นไยธรรมชาติ ด้วยการใช้ Pima cotton เพื่อความคงทนและความสบายตัว
Small Business Trends แนะนำการหาลูกค้าในตลาด green ที่มีผู้เล่นจำนวนมากว่า คำตอบอาจอยู่ที่การให้ข้อมูล-รายละเอียดและสิ่งจริงแท้แก่ผู้บริโภค นั่นคืออธิบายให้ลูกค้าเข้าใจว่าการเลือกตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อทุกฝ่ายอย่างไร
ใช้ Machine Learning และ AI อย่างก้าวล้ำ
อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) เติบโตอย่างต่อเนื่อง แค่นำ AI มาใช้เพียงนิดเดียวก็ช่วยปรับปรุงประสบการณ์สำหรับลูกค้าได้ในแทบทุกอุตสาหกรรม อย่าง Spotify ที่ใช้ AI ในการเลือกเพลงสำหรับยูสเซอร์แต่ละคน
AI ยังเข้าไปแปลงโฉมงานบริการลูกค้า โดย VividTech ระบุว่าแชทบอทและผู้ช่วยเสมือน สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อีคอมเมิร์ซจะยังโดดเด่น
Statista คาดการณ์ว่าในช่วง 4 ปีข้างหน้า อีคอมเมิร์ซทั่วโลกจะมีมูลค่าขึ้นถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 150 ล้านล้านบาท สิ่งนี้ทำให้ผู้ค้าปลีกพากันย้ายหน้าร้านไปอยู่บนออนไลน์ อย่างรายของ Fashion Nova ที่ตอบสนองอำนาจซื้อทางออนไลน์ ด้วยการเปิดสาขาไม่กี่แห่ง แต่อาศัยโซเชียลมีเดียสร้างยอดขายได้หลายร้อยล้านดอลลาร์ จนต้องสร้างคลังสินค้าทันสมัยเพื่อจะได้ส่งสินค้าตามออร์เดอร์ได้เร็วขึ้น
ยิ่งร้านค้าที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน พากันมาทำตลาดทางออนไลน์ด้วย ยิ่งทำให้ดูเหมือนไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ว่าสิ่งไหนสามารถขายได้ทางออนไลน์
แอปมือถือพลิกโฉมอุตสาหกรรมบริการ
แอปมือถือที่ว่าบูมแล้ว จะยิ่งปังหนักขึ้นและแพร่หลายในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่แท็กซี่ไปจนถึงร้านซักรีด ไม่ต้องพูดถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซ ที่ชอบแอปอยู่แล้ว เพราะเปิดโอกาสให้ลูกค้าชอปอย่างง่ายดายและทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้เงินสดหรือลุกขึ้นไปหยิบบัตรเครดิต
สิ่งที่มาพร้อม “เศรษฐกิจบนแอป” คือการแย่งชิงกันเข้าดูแลระบบชำระเงินบนมือถือระหว่างภาคธนาคาร บริษัทบัตรเครดิต บริษัทโทรคมนาคม และบริษัทซอฟต์แวร์
แพลทฟอร์มดิจิทัลแบบครบวงจร
เมื่อบริษัทต่างๆ หันมาเพิ่มบริการทางออนไลน์ ความต้องการแพลทฟอร์มครบวงจรเพื่อรองรับธุรกรรมการเงิน ความปลอดภัย ธุรกรรมเกี่ยวกับธนาคาร และอื่นๆ ย่อมมีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นำไปสู่ธุรกิจและเครื่องมืออย่าง Cyfe ที่ช่วยวิเคราะห์สถิติโซเชียล หรือซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล Tableau
นอกจากนั้น ยังมี Prime Trust ที่จัดหาบริการการเงินและโซลูชั่นพื้นฐานแก่เจ้าของธุรกิจ ในยุคที่ลูกค้าต้องการตัวเลือกในการชำระเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต โทรศัพท์ หรือเงินคริปโต
ใช้แรงงาน Gig Economy
เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถจ้างพนักงานได้เป็นจำนวนมากๆ สามารถใช้ประโยชน์จาก Gig Economy และเสนอให้พนักงานทำงานที่บ้านได้ จริงๆ แล้วหลายอุตสาหกรรมพึ่งพาคนทำงานฟรีแลนซ์มานานแล้ว อย่างภาคไอที ขณะที่ในปี 2563 คาดว่าฟรีแลนซ์จะเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในงานภาคต่างๆ
หลายประเทศกำลังวิพากษ์วิจารณ์การไม่มีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน gig economy ทำให้เมื่อหยุดงานหรือป่วยก็ไม่ได้ค่าจ้าง รวมถึงไม่ได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ แบบที่คนทำงานประจำได้รับ อย่างไรก็ตาม นครนิวยอร์กได้ออกกฎหมาย“Freelancing is not Free” เมื่อปี 2560 เพื่อให้คนทำงานฟรีแลนซ์ได้ค่าจ้างสำหรับงานที่ทำไป และในปี 2563 คาดว่าจะมีหลายแห่งในโลกที่เคลื่อนไหวคุ้มครองคนทำงานฟรีแลนซ์ในทำนองนี้