หลังจากที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการของเชฟโรเลตประเทศไทย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าจะยุติการจำหน่ายรถยนต์ของเชฟโรเลตในประเทศปลายปี 2563 ผู้อำนวยการทั่วไป ฝ่ายบริการหลังการขายและตลาดส่งออก เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย ได้เปิดเผยกับ Business Today ถึงแผนธุรกิจเพื่อให้เจ้าของรถยนต์เชฟโรเลตและตัวแทนจำหน่ายวางใจ
นายวันชนะ อูนากูล ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายบริการหลังการขายและตลาดส่งออก บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ ประเทศไทย เผยว่า เชฟโรเลตจะยุติการจำหน่ายรถยนต์ใหม่เพียงเท่านั้น แต่บริษัทยังคงเปิดทำการอยู่และให้บริการลูกค้าทุกคนที่ซื้อรถยนต์เชฟโรเลตไป แต่แผนธุรกิจที่จะดำเนินต่อจากนี้จะเป็นปรับการให้บริการในรูปแบบใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ASO และ ADDelco
ในส่วนของศูนย์บริการเดิมที่สามารถดำเนินกิจการต่อไป เชฟโรเลตจะสนับต่อโดยการติดป้ายสัญลักษณ์ Chevrolet ASO (Chevrolet Authorized Service Outlet) เพื่อยืนยันว่าศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ สามารถที่จะบริการหลังการขายในทุกรูปแบบได้ และอีกส่วน คือการสร้างศูนย์บริการแห่งใหม่ โดยเชฟโรเลตจะช่วยออกแบบศูนย์และนำผลิตภัณฑ์ของ ACDelco ซึ่งเป็นอะไหล่สำหรับรถยนต์ทุกยี่ห้อมาจัดจำหน่าย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนสามารถรับบริการรถยนต์ได้ทุกยี่ห้อ เป็นการเพิ่มรายได้และความยั่งยืนในการทำธุรกิจ วันชนะ กล่าว
“จากตัวเลขการจดทะเบียนของกรมขนส่ง มีรถยนต์ของเชฟโรเลตที่ใช้งานมากกว่า 400,000 คัน ซึ่งใช้บริการทั้งศูนย์บริการมาตรฐาน และอู่รถยนต์ทั่วไป ปัจจุบันอะไหล่ของเชฟโรเลตมีเพียงบริษัทเชฟโรเลตเท่านั้นที่เป็นผู้จัดหา จึงมั่นใจได้ว่าใช้บริการที่ไหนก็เป็นอะไหล่แท้ของเชฟโรเลตเท่านั้น” วันชนะ กล่าว
วันชนะ ยังให้ความมั่นใจกับลูกค้าต่อความมั่นคงของ บริษัท เชฟโรเลต ประเทศไทย ว่า อาจเพราะข่าวสารที่ออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด ส่งผลให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเชฟโรเลตจะปิดกิจการทั้งหมด แต่เรื่องจริงแล้วคือไม่ใช่ ปัจจุบันเชฟโรเลตประเทศไทยมีเนื้อที่ของคลังสินค้าอยู่ 17,000 กว่าตารางเมตร หรือปรมาณ 11 ไร่ โดยตอนนี้กำลังขยายเนื้อที่เพิ่มอีก 12,000 กว่าตาราเมตร หรืออีกราว 7 ไร่ รวมแล้วมีเนื้อที่คลังสินค้ารวม 18 ไร่ เพื่อจัดเก็บบริมาณอะไหล่ให้เพียงพอ เพราะเชฟโรเลตประเทศไทย ไม่ได้จำหน่ายอะไหล่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่จำหน่ายให้กับลูกค้าต่างประเทศอีกกว่า 30 แห่ง รวมถึงกลุ่มธุรกิจ ACDelco ก็ยังดูแลธุรกิจในประเทศใกล้เคียง 6-7 ประเทศ ฉะนั้นในแผนธุรกิจของเชฟโรเลตมีทั้งในเมืองไทย และส่งออก จึงมั่นใจได้ว่าบริษัท เชฟโรเลต ประเทศไทย ไม่ได้มีแผนที่จะยุติกิจการในเร็ว ๆ นี้แน่นอน
ผู้อำนวยการทั่วไปฝ่ายบริการหลังการขายและตลาดส่งออก ทิ้งท้ายถึงผู้สนใจลงทุนในธุรกิจศูนย์บริการ ว่า จากการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่อินเดียที่มีสถานการณ์เดียวกับประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อน พบว่ามีศูนย์บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปี 2562 แต่งตั้งเพิ่มกว่า 50 แห่ง หลังจากหยุดจำหน่าย งานบริการรถยนต์เป็นธุรกิจที่ทำกำไร และเชฟโรเลตก็สนับสนุนเส้นทางการทำธุรกิจนี้ทุกรูปแบบ