ธนาคารกรุงเทพ ประกาศขายหุ้นกู้ตลอดชีพมูลค่ารวม 750 ล้านเหรียญ กดดันราคาหุ้น BBL รูด 3% เหตุตลาดกังวลหนี้เสีย แต่ด้านนักวิเคราะห์ประสานเสียงให้ ‘ซื้อ’ จากปัจจัยเงินกองทุนแข็งแกร่ง-พอร์ตสินเชื่อรายย่อยต่ำ
นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด กล่าวว่า สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ออกตราสารที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Additional Tier 1) ในรูปแบบหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ (Perpetual Bond) มูลค่า 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท) อัตราดอกเบี้ย 5% ซึ่ง BBL ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารดังกล่าว จนกว่าจะผ่านระยะเวลา 5 ปี (NC5)
ทั้งนี้ การออกตราสารหนี้ในครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการ Global Medium Term Note เพื่อรองรับปัญหา NPL ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งโครงการดังกล่าวมีวงเงินในการออกตราสาร 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีอันดับเครดิต (Credit rating) โดย Moody’s ที่ Ba1
ปัจจุบันโครงการ Global Medium Term Note มีวงเงินคงเหลือในการออกตราสารทางการเงินราว 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 7 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา BBL มีการออกเพียงหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 2
โดยการออกหุ้นกู้ดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้น BBL วานนี้ (16 ก.ย.) ปรับตัวลงกว่า 3% อย่างไรก็ตาม จากการประชุมกับนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) ของบริษัทฯ วานนี้ (16 ก.ย.63) เผยว่า วัตุประสงค์ของการออก Perpetual Bond (บันทึกในส่วนของผู้ถือหุ้น) ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนขึ้นที่ 1 นั้น ส่งผลให้มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (BVPS) ของบริษัทฯ เพิ่มประมาณ 12.2 บาท
โดยการออกตราสารหนี้ในครั้งนี้ นอกจากเพื่ออำนวยสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศซึ่งมีสัดส่วนราว 24% ของพอร์ตสินเชื่อธนาคาร ณ ไตรมาส 2/63 ยังช่วยเพิ่มอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ประมาณ 1% มาที่ 14.8% จาก 13.96% ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/63 และส่งผลให้เงินกองทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) เพิ่มสู่ 17.4%
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดเกณฑ์กองทุนขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ที่ 9.5% และ 12% ตามลำดับ
สำหรับผลทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ทาง BBL เชื่อว่าเป็นไปตามเกณฑ์ของ ธปท. (ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด) ซึ่งน่าจะทราบผลในช่วง ต.ค.63 ขณะที่สถานะการเงินของธนาคารเพอร์มาตา (Permata) ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีสัดส่วนราว 10% ของพอร์ตสินเชื่อ BBL ที่มีอยู่ 2.35 ล้านล้านบาท พบว่า CAR ณ 30 มิ.ย.63 อยู่ที่ 21.3% (เกณฑ์ขั้นต่ำ 12.5%)
อย่างไรก็ดี ด้านอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) ของ Permata ณ สิ้นงวดไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 3.7% จาก 3.2% ณ สิ้นงวดก่อน โดย Permata มีลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของทางอินโดฯ ราว 11% ของพอร์ตสินเชื่อ Permata (หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 1.1% ขนาดพอร์ตสินเชื่อรวมของ BBL)
ทั้งนี้ ผลกระทบจากดอกเบี้ยจ่ายของหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ในทางบัญชีต้องนำดอกเบี้ยจ่าย (สุทธิจากภาษี) มาคำนวณกำไรต่อหุ้น (EPS) ซึ่งฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะส่งผลให้ EPS ต่ำลงจากประมาณการเดิมราว 5%
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนยังคงให้คำแนะนำ “ซื้อ” เนื่องจากมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่ราคาปัจจุบันมี PBV ซื้อขายที่ 0.43 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 12 ปี แต่อย่างไรก็ดีแนะนำดูทิศทางของการจ่ายเงินปันผลหลังทราบผล Stress Test รวมถึงติดตามคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอย่างใกล้ชิด
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า หลัง BBL ประกาศออกหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ชุดดังกล่าว ตลาดหุ้นมองเป็นสัญญาณเชิงลบ เนื่องจากแสดงถึงความไม่มั่นใจในระดับกองทุนขั้นที่ 1 อีกทั้งช่วงนี้หลายธนาคารอยู่ระหว่างการจัดทำ Stress Test เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 เพื่อส่ง ธปท.ในเดือน ต.ค.
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามไปที่บริษัท สรุปได้ว่าตราสารดังกล่าวเป็นไปตามแผนเพิ่มเงินกองทุนขั้นที่ 1 ให้กลับไปที่ 16-17% เท่ากับในอดีต เนื่องจาก ณ สิ้นไตรมาส 2/63 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารลดลงเหลือ 14% หลังรวมงบกับธนาคาร Permata อีกทั้งการออกตราสารในสกุลเงินดอลลาร์ สามารถนำไปปล่อยสินเชื่อต่างประเทศในรูปแบบค่าเงินดอลลาร์ได้
ทั้งนี้ บล.หยวนต้า มีมุมมองเป็นกลางต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากฐานะการเงินของ BBL ยังอยู่ในระดับที่แข็งแรง ส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่แม้จะลดลงจากในอดีต แต่ยังสูงกว่าขั้นต่ำตามเกณฑ์ของ ธปท. อีกทั้งการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันด์ช่วงให้เงินกองทุนขั้นที่ 1 สูงขึ้นจากเดิมราว 1%
ขณะที่ความเสี่ยงฝั่ง Permata มองว่าค่อนข้างต่ำ สะท้อนจากจำนวนลูกหนี้ที่ขอเข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ที่ต่ำเพียง 11% น้อยกว่าอุตสาหกรรม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อธุรกิจ (Corporate Loan) และในปัจจุบัน Permata มีเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 20.2% และจะเพิ่มเป็นมากกว่า 30% หลังรวมกับ BBL Indonesia
ในแง่ของผลการดำเนินงานของ BBL ฝ่ายวิจัยคาดว่ากำไรไตรมาส 3/63 จะฟื้นตัวจากไตรมาส 2/63 ที่ค่อนข้างต่ำ จากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น หลังกิจกรรมผ่านสาขาทั้งการขายหน่วยลงทุนและการขายประกันเพิ่มฟื้นตัวขึ้น บวกกับการตั้งสำรองที่จะผ่อนคลายลง หลังจากที่ธนาคารตั้งสำรองก้อนใหญ่ไปแล้วในครึ่งปีแรกของปี 2563
นอกจากนี้ การรวมงบการเงินของ Permata เข้ามาในงบการเงินรวมเป็นไตรมาสแรก คาดว่าจะหนุนให้ทั้งปี BBL มีกำไรสุทธิ 28,000 ล้านบาท แต่ลดลง 21.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน (YoY)
“เรายังชอบ BBL เนื่องจากมองว่ามีความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะมีลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีไม่มากนัก รวมทั้งผลดำเนินงานที่จะค่อยๆ ฟื้นตัว ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันมีโอกาสปรับขึ้น (Upside) 26% จากราคาเป้าหมายปี 2563 ที่ 126.00 บาท เราจึงคงคำแนะนำ ‘ซื้อ’ ” นักวิเคราะห์ ระบุ
ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำ “ซื้อ” เช่นกัน ที่ราคาเป้าหมาย 124.00 บาท เนื่องจาก BBL ให้เหตุผลในการออกว่าเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งฝ่ายวิจัยมองว่าการออกหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ครั้งนี้เพื่อยกระดับเงินกองทุนให้สูงขึ้น จากที่ในขณะที่นี้ BBL มีเงินกองทุนอยู่ 18.1% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มที่ 18.6%