2 โบรกฯ ชี้ความเสี่ยงหุ้นแบงก์ หวั่นกำไรไตรมาส 2 ต่ำกว่าคาดการณ์ ชิงหั่นกำไร KBANK หดตัว 40% จากพอร์ตสินเชื่อธุรกิจท่องเที่ยว-รายเล็กอ่วมพิษโควิด แนะนักเล่นหุ้น ‘เก็งกำไร’ เมินลงทุนยาว เลือก ‘BBL-TISCO’ เป็นหุ้นเด่น-ตั้งสำรองสูง
นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า เข้าสู่ช่วงเดือน ก.ค. บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เตรียมทยอยประกาศงบกำไรไตรมาส 2/63 โดยกลุ่มธนาคารจะเป็นกลุ่มแรกที่ประกาศงบออกมา เบื้องต้นคาดว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบด้านคุณภาพสินทรัพย์ (NPL) และการตั้งสำรอง (Credit Cost) ไม่มาก เนื่องจากมีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังได้รับแรงกดดันจากดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) ของธนาคาร รวมถึงการขอความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ตามนโยบายของ ธปท. โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่พอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในธุรกิจท่องเที่ยวและ SME ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง
ล่าสุด ฝ่ายวิจัยแนะนำ “ขาย” KBANK โดยปรับลดราคาเป้าหมายเหลือ 80 บาท จากเดิม 100 บาท เนื่องจากแนวโน้มผลกำไรที่อ่อนแอ อีกทั้งกำไรปี 2563 ถึง 2565 มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบ 1.07 หมื่นล้านบาท/ปี จากความเสี่ยง NPL บนสมมติฐานว่า 20% ของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะกลายเป็น NPL ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประลดกำไรต่อหุ้น (EPS) ของ KBANK ในช่วง 3 ปีต่อจากนี้ลง 40%
“ในแง่ราคาหุ้นตัวอื่นๆ ในกลุ่มแบงก์ก็ดูจะแอบสู้เหมือนกัน และยังประคองตัวได้ อย่างไรก็ตาม ถึงราคาหุ้นจะลงมาถูกมาก แต่เราแนะนำ ‘เก็งกำไรเป็นรอบๆ’ มากกว่า ไม่แนะนำให้ลงทุนระยะยาว เพราะแบงก์ยังมีความเสี่ยงผลประกอบการออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์” นายวิจิตร กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมนักวิเคราะห์ครั้งถัดไป เชื่อว่าแต่ละธนาคารจะให้ภาพเชิงลบต่อแนวโน้มช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือ ซึ่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงการถูกปรับประมาณการณ์กำไรปี 2563 ลงอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หากลงทุนแนะนำลงทุนหุ้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารทิสโก้ (TISCO) จากที่มีการตั้งสำรองมากกว่าคู่แข่ง
ขณะที่ บล.หยวนต้า ระบุว่า ในไตรมาสที่ 2 คาดว่าผลดำเนินงานของธนาคารจะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่จะเริ่มดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสแรก (QoQ) แม้มีแรงกดดันจากรายได้ค่าธรรมเนียม อาทิ ค่าธรรมเนียมขายประกัน (Bancassurance) และค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตที่ได้รับผลกระทบจากการปิดเมือง รวมถึงรายได้สินเชื่อที่ปรับลงตามดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างไรก็ดี ผลกระทบเชิงลบดังกล่าวถูกหักล้างด้วย 1. การตั้งสำรองที่อ่อนตัวลงจากไตรมาสแรกที่มีการตั้งสำรองพิเศษไว้ค่อนข้างมาก และ 2. กำไรจากเงินลงทุนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามภาวะตลาดที่ฟื้นตัว
ส่วนการลงทุนยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” โดยเลือก BBL และ TISCO เป็นหุ้นเด่น เนื่องจากมีการตั้งสำรองที่สูง รวมถึงมีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อาทิ งบกำไรจากการลงทุนในแบงก์ต่างประเทศ และพอร์ดสินเชื่อยานบนต์ที่มีโอกาสขยายตัวจากงานมอเตอร์โชว์ในเดือน ก.ค.นี้