ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดบวกในวันศุกร์ (24 มี.ค.) หลังจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แสดงความเห็นที่ได้ช่วยคลายความวิตกของนักลงทุนเกี่ยวกับแนวโน้มการเกิดวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคาร
ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 32,237.53 จุด เพิ่มขึ้น 132.28 จุด หรือ +0.41%, ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,970.99 จุด เพิ่มขึ้น 22.27 จุด หรือ +0.56% และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,823.96 จุด เพิ่มขึ้น 36.56 จุด หรือ +0.31%
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดาวโจนส์บวก 1.2%, ดัชนี S&P500 เพิ่มขึ้น 1.4% และดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้น 1.7% หุ้น 9 ใน 11 กลุ่มของดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น โดยหุ้นกลุ่มปลอดภัย อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ขณะที่หุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและกลุ่มการเงินเป็นเพียงหุ้นสองกลุ่มที่ปรับตัวลง
อย่างไรก็ตาม ตลาดได้แรงหนุนจากการที่ประธานเฟดระดับภูมิภาคระบุว่า พวกเขาเชื่อมั่นว่า ระบบธนาคารไม่ได้เผชิญกับวิกฤตสภาพคล่อง ซึ่งได้ทำให้เฟดตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%
อย่างไรก็ตาม ตลาดถูกกดดันจากการที่หุ้นธนาคารดอยซ์แบงก์ของเยอรมนีดิ่งลงทั้งในตลาดยุโรปและสหรัฐ หลังจาก Credit Default Swap (CDS) ซึ่งเป็นอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของดอยช์แบงก์พุ่งสูงสุดในรอบ 4 ปี ก่อนจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากนายโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีกล่าวในวันศุกร์ว่า ดอยซ์แบงก์ได้ผ่านการปรับโครงสร้างแล้ว และมีการปรับรูปแบบธุรกิจให้ทันสมัย รวมทั้งเป็นธนาคารที่สามารถทำกำไรอย่างมาก นักลงทุนจึงไม่ควรคาดเดาเกี่ยวกับอนาคตของทางธนาคาร
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์หลายรายได้ออกมาสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเช่นกัน โดยระบุว่า ดอยซ์แบงก์จะไม่กลายเป็นโดมิโนตัวต่อไปจากเครดิต สวิส เนื่องจากธนาคารมีกำไรถึง 5 พันล้านยูโร (5.4 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2565 เพิ่มขึ้นถึง 159% เมื่อเทียบกับปี 2564 และสามารถทำกำไรถึง 10 ไตรมาสติดต่อกัน