จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้คนไทยยังคงเดือดร้อน โดยเฉพาะคนที่มีหนี้สิน พร้อมๆกับขัดสนเรื่องเงินทอง เพราะยังหางานทำไม่ได้ หรือต้องกลับสู่ภูมิลำเนา ทำไร่ ทำสวน ซึ่งแน่นอน..รายได้ไม่อาจกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด จึงมีผลต่อการชำระหนี้คืน และปัญหาหนี้สินของคนไทยนี้เองที่ทำให้เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ยิ่งเหมือนไฟลามทุ่ง หากไม่ได้รับความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ก็อาจต้องตกที่นั่งลำบาก
จนทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) หรือแบงก์ชาติ ได้ร่วมมือกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และนอนแบงก์ต่าง ๆ ออกมาตรการช่วยเหลือมาตลอดการระบาดของโควิด-19 จนปัจจุบัน ส่งผลให้ลูกหนี้ต่าง ๆ อาจยังหายใจหายคอได้บ้างในช่วงเวลาที่ยากลำบาก และความช่วยเหลือก็ยังจำเป็นต้องออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อประคองลูกหนี้ไปจนสุดฝั่ง
โดยมาตรการแก้หนี้คนไทยในปี 2565 แบงก์ชาติได้ออกมาตรการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้กันต่อไป โดยมีหลากหลายมาตรการสอดคล้องกับความสามารถของลูกหนี้ และรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้รับผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งจะเป็นความช่วยเหลือแบบระยะยาวอย่างยั่งยืน
1.มาตรการแก้ไขหนี้เดิม
-เน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว ซึ่งครอบคลุมสินเชื่อรายย่อยทุกประเภท เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบ้าน โดยควรกำหนดจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้กลับมา เช่น ลดค่างวดในช่วงแรก และปรับเพิ่มค่างวดเป็นขั้นบันไดตามรายได้ของลูกหนี้ที่จะกลับมา พร้อมกับขยายเวลาชำระหนี้ออกไป เพื่อลดภาระหนี้ต่อเดือนในลดน้อยลง
2.มาตรการเพื่อรักษาสภาพคล่องเดิมและเติมเงินใหม่แก่ลูกหนี้รายย่อย โดยแบงก์ชาติได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อลดภาระการจ่ายหนี้ลง ดังนี้
-บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ได้คงอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิต 5% ในปี 2565 และกำหนด 8% ในปี 2566 จากปกติ 10% และได้ขยายเพดานวงเงินไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ ไม่จำกัดจำนวนสถาบันการเงิน ให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อเดือน
-สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ได้ขยายเพดานวงเงินเป็นรายละไม่เกิน 40,000 บาท และขยายเวลาการชำระคืนไม่เกิน 12 เดือน
3.มาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ “การรีไฟแนนซ์” คือ การปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิม และย้ายไปใช้สินเชื่อเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง เป็นต้น
-แบงก์ชาติ ได้ออกมาตรการห้ามสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ เรียกเก็บค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee) ในช่วงปี 2565-2566 รวม 2 ปี ซึ่ง prepayment fee คือค่าปรับที่ลูกหนี้ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ในกรณีที่ปิดสินเชื่อก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยทั่วไปรีไฟแนนซ์อาจไม่คุ้มค่า หากค่าปรับส่วนนี้สูงกว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ประหยัดจากการรีไฟแนนซ์
4.มาตรการสนับสนุนการรวมหนี้
-แบงก์ชาติ ออกมาตรการรวมหนี้เพื่อลดภาระหนี้จากหนี้ที่มีอยู่หลายทาง จะได้รับทั้งลดดอกเบี้ยถูกลงและค่างวดลดลงด้วย อย่างเช่นการรวมหนี้สินเชื่อบ้านกับสินเชื่อรายย่อย โดยดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านจะไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม ส่วนดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยที่นำมารวมหนี้ จะมีดอกเบี้ยไม่เกินดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านหลังจากช่วงจัดรายการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวก 2% ต่อปี
รูปแบบการรวมหนี้มีแบบไหนบ้าง?
1.รวมหนี้ภายในสถาบันการเงินเดียวกัน
2.รวมหนี้ระหว่างสถาบันการเงิน โดยโอนหนี้บัตรจากธนาคารแห่งหนึ่งไปรวมหนี้บ้านของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง หรือโอนหนี้บ้านไปรวมกับหนี้บัตรก็ได้
3.รวมหนี้ไปรวมกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ที่ลูกหนี้ไม่เคยมีหนี้มาก่อน เช่น โอนหนี้บ้านไปรวมหนี้บัตรที่ธนาคารแห่งใหม่ เป็นต้น
ประโยชน์จากการรวมหนี้ คือ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลดลงเมื่อนำมารวมหนี้ , ชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะเหลือหนี้ก้อนเดียวและอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียว และลูกหนี้ไม่เสียประวัติเครดิตบูโร หากเจรจารวมหนี้สำเร็จตั้งแต่ก่อนเป็น NPLข้อควรรู้ : ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ได้ไม่เกินมูลค่าหลักประกัน แต่หากยอดหนี้ของสินเชื่อรายย่อยสูงกว่ามูลค่าหลักประกัน สามารถขอรวมหนี้แค่บางส่วนได้ และลูกหนี้ต้องให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น รวมทั้งลูกหนี้อาจถูกปรับลดวงเงินส่วนที่นำไปรวมหนี้ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้