ปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ไม่อาจสะสางจัดการได้ในเร็ววัน หากต้นตอของปัญหาบางครั้งก็เกิดจากตัวผู้กู้เองที่อาศัยความได้มาของเงินที่ง่าย ได้เงินเร็ว ไม่ต้องรออนุมัติจากผู้ให้กู้ในระบบ ซึ่งมักจะมีขั้นตอนและกระบวนการค่อนข้างเยอะ และนาน แต่ดอกเบี้ยของเจ้าหนี้นอกระบบค่อนข้างสูงทีเดียว ตกเดือนละ 20% หรือต่อปีถึง 240% เท่ากับว่ากู้ 100 บาทแล้วไม่ใช้ ต้องจ่ายดอกเบี้ยถึง 240 บาทเกินกว่าเงินต้นเสียอีก!
ในปี 2565 รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ประกาศชัดเจนว่า จะเป็นปีแห่งการแก้หนี้ ทั้งหนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ให้คนไทยได้ปลดภาระหนี้ ขจัดปัญหาหนี้ที่มีอยู่ให้หมดไป โดยต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างแข็งขัน เพราะเรื่องหนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่ง หรือไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่
1.จัดการเจ้าหนี้นอกระบบ ดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย โดยมีพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบได้
2.ไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ เปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถร้องทุกข์และขอคำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่ จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ ณ สาขาธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งจะประสานคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด ซึ่งเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้
3.ให้แหล่งเงินในระบบ เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว ลูกหนี้สามารถขอสินเชื่อในระบบได้ ทั้งสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ในวงเงิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 36% ต่อปี หรือสินเชื่อจากธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.วงเงิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 0.85% ต่อเดือน หรือสินเชื่อในระบบอื่นๆ
4.ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำเกินไป คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด จพช่วยฟื้นฟูอาชีพปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงินฝึกอบรมอาชีพ หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
5.สร้างภูมิคุ้มกัน ภาครัฐจะพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ หน่วยงานต่างๆ ร่วมกันให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายในอนาคต
ทั้งหมดเป็นหนทางของการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศไทย โดยจะเห็นได้ว่าต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน ซึ่งหนี้นอกระบบไม่อาจแก้ไขได้ในวันนี้หรือแค่พรุ่งนี้ แต่ต้องอาศัยเวลาเพื่อให้การแก้หนี้นอกระบบมีความยั่งยืน.
(ที่มา : ศูนย์รับแจ้งการเงินนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง)