สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนและวางแผนทางการเงินของเราให้อย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนครัวเรือน หรือจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ ก็ต้องระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยเฉพาะคนรายได้น้อย หรือกลุ่มเปราะบาง โดยในอนาคตไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดวิกฤติอะไรหรือไม่ แต่จะดีกว่าไหม..ถ้าเราเตรียมพร้อมจัดการการเงินของเราตั้งแต่วันนี้!
เปิดคัมภีร์วิธีใช้เงินแบบไม่มีกั๊ก โดยแยกออกเป็นหมวดหมู่และบอกเทคนิคการบริหารจัดการเงิน เพื่อให้การใช้ชีวิตมีความสุข มีดังนี้
-จัดการเงินให้พอใช้
1.ใช้เงินน้อยกว่าที่หาได้เสมอ 2.เก็บออมทันทีเมื่อมีเงินเข้ามา 3.ออมเงินอย่างน้อย 1 ใน 4 ของรายได้ต่อเดือน 4.แบ่งรายรับเป็นส่วน ๆ แล้วใช้จ่ายตามส่วนที่แบ่งไว้ 5.จดรายรับ-รายจ่ายทุกวัน เพื่อหารูรั่วทางการเงิน
-เตรียมพร้อมเผื่อฉุกเฉิน
6.เตรียมเงินไว้ใช้เผื่อเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ตกงาน 7.เก็บเงิน 3 – 6 เท่าของรายจ่ายจำเป็นและค่าผ่อนหนี้ต่อเดือน 8.แยกบัญชีเงินออมเผื่อฉุกเฉินจากบัญชีอื่น ๆ 9.เก็บเงินออมเผื่อฉุกเฉินไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ จะได้ถอนมาใช้สะดวก 10.ออมเงินให้ครบเช่นเดิมถ้าต้องถอนเงินไปใช้ เผื่อมีเหตุฉุกเฉินอีก
-จัดการเงินเพื่อเป้าหมายในชีวิต
11.ตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นไปได้ มีจำนวนเงินและระยะเวลาแน่ชัด 12.แบ่งเป้าหมายระยะยาวเป็นช่วงสั้น ๆ ให้มีกำลังใจไปถึงจุดหมาย 13.จัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย สิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนรอได้ 14.ศึกษาและลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมาย 15.ถึงเป้าหมายได้ไวขึ้นด้วยวินัยในการใช้เงิน
-จัดการเงินแบบคนมีคู่
16.เปิดใจคุยเรื่องเงินกันแต่เนิ่น ๆ ทั้งเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระอื่น ๆ 17.ตกลงวิธีจัดการเงินว่าจะแยกหรือรวม หรือแยกครึ่งรวมครึ่ง 18.เลือกวิธีที่เหมาะสมและทำได้ (ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกครอบครัว) 19.ทำตามกติกาที่ตั้งไว้อย่างมีวินัย 20.หากรู้สึกกดดันหรือทำตามที่ตกลงกันไว้ไม่ได้ ให้เปิดใจคุยกันใหม่
-เตรียมตัวโสดสบาย
21.ไม่ชะล่าใจว่าไม่มีภาระ ลุยวางแผนการเงินและลงมือทำทันที 22.อยู่คนเดียวไม่เหงา ถ้าเรามีเงินออมเพื่อท่องเที่ยว 23.อนาคตไม่แน่นอน เก็บเงินก้อนไว้เผื่อแต่งงานหรือดูแลตัวเองตอนแก่ 24.ไม่โอนเงินให้ใครจนหมดตัว แม้จะหลงรักเขาจนหมดใจ
-เตรียมตัวเกษียณ
25.วางแผนเกษียณตั้งแต่เริ่มทำงาน ปลายทางมีเงินพอใช้ไม่ต้องพึ่งใคร 26.คำนวณเงินที่ควรมี = ค่าใช้จ่ายต่อเดือน x 12 x จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตหลังเกษียณ 27.เช็กเงินออมเพื่อเกษียณที่มีอยู่ จะได้รู้ว่าต้องเก็บอีกเท่าไหร่28.เพิ่มเงินออมและลงทุนเพื่อเกษียณตามรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น 29.ทบทวนและปรับปรุงแผนเป็นประจำเพื่อทำให้ได้ตามเป้าหมาย 30.เตรียมเงินก้อนเผื่อค่าใช้จ่ายที่มาไม่บ่อยแต่เยอะ เช่น ซ่อมบ้าน
-จัดการเงินเมื่อเกษียณ
31.ตรวจสอบแหล่งรายได้หลังเกษียณเพื่อให้รู้รายรับที่แน่นอน 32.ควบคุมรายจ่ายทุกรายการด้วยการจดบันทึกการใช้จ่าย 33.แบ่งเงินสำหรับใช้จ่ายไว้ในบัญชีออมทรัพย์ 34.กระจายการลงทุนโดยคำนึงถึงสภาพคล่องและความเสี่ยง เพื่อให้มีเงินใช้เมื่อต้องการ 35.ทำพินัยกรรมส่งต่อทรัพย์สินให้คนที่รักถ้าก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ทำ
-ก่อนใช้บริการทางการเงิน
36.ไม่ใช้บริการเพราะสงสารพนักงานหรือถูกล่อด้วยโปรโมชัน 37.ทำความเข้าใจเงื่อนไขก่อนตัดสินใจใช้บริการ 38.รู้ภาระผูกพันทางการเงินและมั่นใจว่าทำได้ก่อนตกลงใช้บริการ 39.ไม่ตกลงใช้บริการหากทำตามเงื่อนไขในสัญญาไม่ได้ 40.ใช้บริการกับผู้ให้บริการที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเท่านั้น
-ระหว่างหรือหลังใช้บริการทางการเงิน
41.เช็กรายละเอียดก่อนยืนยันโอนเงิน เช่น ผู้รับโอน จำนวนเงิน 42.ไม่บอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน หรือรหัสผ่านแก่คนอื่น 43.เช็กความถูกต้องของเอกสารทางการเงินเมื่อได้รับมาทันทีทุกครั้ง 44.เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่เมื่อไหร่ แจ้งผู้ให้บริการด้วย 45.ร้องเรียนกับสถาบันการเงินหรือ ธปท. หากไม่ได้รับความเป็นธรรม
-เตรียมตัวก่อนเป็นหนื้
46.ไม่ควรมีภาระผ่อนหนี้เกิน 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน 47.ไม่ค้ำประกันให้หรือกู้เงินแทนคนอื่น ถ้าเขาไม่จ่ายแล้วเราจะเดือดร้อน 48.ศึกษารายละเอียดและเปรียบเทียบเงื่อนไขก่อนกู้ทุกครั้ง 49.หลีกเลี่ยงเงินกู้นอกระบบเพราะดอกเบี้ยสูง และมักถูกทวงหนี้โหด 50.กู้เงินผ่านแอปฯ ถูกกฎหมาย ดูได้ที่ “เช็กแอปเงินกู้” เว็บไซต์ ธปท.
-ระวังการใช้บัตรเครดิต
51.มีบัตร 1-2 ใบก็พอแล้ว จะได้ไม่รูดเพลิน บัตรหายก็รู้ตัวไว 52.ใช้บัตรเครดิตเบิกถอนเงินสดมีค่าธรรมเนียมรวม VAT 3.21% 53.จ่ายขั้นต่ำ ทำดอกเบี้ยบาน 54.ไม่กดเงินสดจากบัตรมาจ่ายหนี้อื่น เพราะมักปลดหนี้ได้ยากขึ้น 55.ไม่ผูกบัตรกับร้านค้าออนไลน์ที่ตัดชำระเงินโดยไม่ถาม OTP 56.ไม่เปิดเผยข้อมูลบนบัตรโดยไม่จำเป็น เช่น เลขบัตร เลข CVV
-รู้สักนิดก่อนคิดกู้ซื้อรถ
57.จ่ายเงินดาวน์มาก ดอกเบี้ยน้อย ค่างวดก็น้อยลง 58.จ่ายช้าหรือไม่จ่าย อาจโดนเบี้ยปรับเพิ่มอีก 3% และค่าทวงถามหนี้ 59.ขาดส่ง 3 งวดติดกัน อาจถูกบอกเลิกสัญญาและโดนยึดรถ 60.ถูกทวงหนี้ต่อถ้าเจ้าหนี้ขายรถที่ยึดมาแล้วไม่พอจ่ายหนี้ที่ค้างอยู่
-วางแผนให้ดีก่อนขอสินเชื่อบ้าน
61.เปรียบเทียบดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าใช้จ่าย เช่น ค่าประเมินหลักประกัน ค่าโอน 62.เตรียมเงินสำรอง เผื่อขาดรายได้ จะได้ผ่อนต่อไหว 63.ซื้อประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อและประกันภัยบ้านตามความจำเป็น 64.อยากปลดหนี้บ้านไวขึ้น อย่าลืมเช็กค่าธรรมเนียมชำระหนี้ก่อนกำหนด 65.เปรียบเทียบดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายก่อนรีไฟแนนซ์บ้าน
-ขอปรับโครงสร้างหนี้
66.จ่ายหนี้ไม่ไหวอย่ารอช้า ให้รีบเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้ 67.รีไฟแนนซ์กับเจ้าหนี้ใหม่เพื่อลดค่างวด หรือยืดอายุสัญญากับเจ้าหนี้เดิม 68.เปลี่ยนประเภทหนี้ไปเป็นแบบที่ดอกเบี้ยถูกกว่าเดิม 69.รวมหนี้ไม่มีหลักประกันกับหนี้บ้าน เพื่อลดค่างวดและดอกเบี้ย 70.ตกลงกับเจ้าหนี้ไม่ได้ ลองติดต่อ “ทางด่วนแก้หนี้” ธปท.
-ตั้งการ์ดให้ตัวเองในยุคออนไลน์
71.ไม่เชื่อ ไม่กรอก ไม่บอกข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญบนโลกออนไลน์ 72.ไม่ดาวน์โหลดแอปฯ หรือโปรแกรมที่ไม่น่าเชื่อถือ 73.ไม่ใช้ wifi สาธารณะทำธุรกรรมการเงิน เพราะเสี่ยงถูกล้วงข้อมูล 74.ตั้งรหัสผ่านให้เดายาก และเปลี่ยนเป็นระยะ เช่น 3 เดือน 75.คลิกออกจากระบบ / sign out หรือ log out ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน
-รู้ให้ทันภัยการเงิน
76.ตั้งสติ ไตร่ตรอง เมื่อมีคนมาบอกเรื่องที่ชวนให้ตกใจและต้องจ่ายหรือโอนเงิน 77.ไม่แน่ใจ ให้ถาม ธปท. / ตำรวจ ก่อนโอนเงินหรือให้ข้อมูลใครไป 78.หมั่นติดตามข่าวสารเตือนภัย เช่น PCT police 79.รีบแจ้งความและติดต่อธนาคาร ถ้าเสียทีโอนเงินให้มิจฉาชีพ 80.ระวังการลงทุนที่พูดถึงแต่ผลตอบแทนสูง แต่ไม่เคยพูดเรื่องความเสี่ยง
(ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย)