ใกล้ถึงช่วงปลายปี สิ่งหนึ่งที่หลายคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานในบริษัทมาอย่างยาวนาน คือ การเกษียณอายุการทำงาน เมื่อถึงอายุ 60 ปี ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังจะได้พักผ่อน พักการทำงาน หย่อนกาย หย่อนใจ ใช้ชีวิตหลังเกษียณ แต่คำถามคือ จะทำอย่างไรให้คนอายุ 60 ปีใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างเป็นสุข ไม่ทุกข์เพราะมีเงินให้ใช้ไปจนตลอดบั้นปลายของชีวิต ไม่ต้องพึ่งพาบุตรหลาน หรือเงินงบประมาณรัฐที่ต้องมาอุดหนุน ซึ่งอาจไม่เพียงพอกับรายจ่าย
การใช้ชีวิตหลังเกษียณให้เป็นสุข จำเป็นต้องมีเงินให้เพียงพอกับรายจ่าย แต่ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยคิดว่าการจะมีเงินไว้ใช้หลังเกษียณนั้น จะต้องเก็บออมในช่วงที่ใกล้จะถึงเวลาเกษียณอย่างเช่นในช่วงอายุ 51 ปีเป็นต้นไป แต่ความจริงแล้วควรออมเงินไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างเช่นเริ่มจากอายุ 31 ปี เพราะเป็นช่วงที่รายได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จนมีสัดส่วนเงินออมมากเพียงพอกว่าตอนที่เริ่มต้นการทำงานในช่วงอายุ 23 ปีที่เงินเดือนอาจยังไม่มากต่อการให้ออมเงินหรือลงทุนใดๆ
หากตั้งเป้าหมายว่าเงินที่จะต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณให้เพียงพอที่ 1 ล้านบาท และคาดคะเนว่าจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยจากเงินฝากรวมแล้วเฉลี่ย 5% ต่อปี จะต้องเก็บออมเงินไว้ปีละ 15,000 บาทตั้งแต่อายุ 31 ปี หรือคิดเป็นเดือนละ 1,250 บาท เมื่อเก็บออมไปจนถึงอายุ 60 ปี จะมีเงินประมาณ 1 ล้านบาทพอดิบพอดี จะแบ่งเป็นเงินออมหรือลงทุนที่เป็นเงินต้น 450,000 บาท ที่เหลือ 600,000 บาทเป็นผลตอบแทนและดอกเบี้ย
แต่หากอีกกลุ่มเริ่มออมเงินเมื่อตอนอายุ 51 ปี จะต้องใช้เงินออมจำนวนมากถึงปีละ 75,000 บาท หรือเดือนละ 6,300 บาท เพื่อให้มีเงิน 1 ล้านบาทในยามเกษียณ ซึ่งส่วนนี้เป็นดอกเบี้ยเพียง 240,000 บาทเท่านั้น โดยอย่าลืมว่านอกจากเงินต้นที่นำมาออมเงินหรือลงทุนแล้ว สิ่งสำคัญคือ ต้องทำให้ผลตอบแทนงอกเงยได้เฉลี่ย 5% ต่อปีด้วย
วิธีการบริหารเงินให้ผลตอบแทน 5% ต่อปี สู่จุดมุ่งหมายเงินล้าน คือ ต้องกระจายความเสี่ยงจากเงินที่นำไปลงทุน โดยแบ่งสัดส่วนซึ่งควรจะมีทั้งลงทุนในผลิตภัณฑ์การเงินที่เป็นเงินออมเงินฝาก และสินทรัพย์เสี่ยงตามที่ตนเองจะยอมรับได้ เช่น เงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ สลากออมทรัพย์ แม้จะได้รับดอกเบี้ยต่ำมากในเวลานี้ แต่ก็ถือเป็นการออมเงินที่ไม่ต้องเสี่ยงให้เงินต้นหายไป หรือเรียกว่าขาดทุน
นอกจากนี้ควรลงทุนกับความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ผลตอบแทนงอกเงย เช่น ทองคำ หุ้น กองทุนรวม ตราสารหนี้ พันธบัตรต่างๆ ซึ่งเป้าหมายการลงทุนเหล่านี้คือเพื่อผลตอบแทนสูงขึ้น แต่อย่าลืมว่าต้องยอมรับกับความเสี่ยงนี้ให้ได้ด้วย เพราะโอกาสขาดทุน หรือเงินต้นหายไปมีอยู่ค่อนข้างมาก จากหลายปัจจัยทั้งภาวะเศรษฐกิจ และสภาวะตลาดการลงทุนในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งต้องศึกษาผลิตภัณฑ์ หรือสินทรัพย์ที่จะไปลงทุนให้มากและละเอียดรอบคอบ เพื่อปิดความเสี่ยงไปได้ระดับหนึ่ง
ฉะนั้น ก่อนจะถึงวัยเกษียณ เราควรวางแผนการเงิน เพื่อเก็บออมควบคู่การลงทุน เพื่อกอบโกยเงินให้ถึงล้าน ไว้เป็นสภาพคล่องในยามที่รายได้ไม่ได้เข้ามาทุก ๆ เดือนเหมือนตอนที่ยังทำงาน แต่หากใครเกษียณแล้วยังพอมีแรงทำงาน อยู่ว่างๆแล้วไม่มีอะไรทำ การทำงานแม้เพียงเล็กๆน้อยๆ แต่ก็สามารถเติมเต็มชีวิตในช่วงเวลาของการเกษียณได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วไม่ว่าจะทำอะไร อย่าลืม เราต้องมีความสุขไปกับมันด้วย.
(ข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย)