เพราะชีวิตทุกชีวิตมีค่า แต่ไม่มีใครตอบได้ว่า วันไหนที่คนที่เรารักจะมีเหตุให้ด่วนจากไปก่อนวัยอันควร ซึ่งนอกจากอุบัติเหตุที่ต้องระมัดระวังแล้ว ยังมีเรื่องของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งไม่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า และอาจเกิดกับคนที่ดูเผิน ๆ เหมือนมีสุขภาพแข็งแรงก็ได้ ถ้าใครสังเกตสถานที่ใหญ่ ๆ สมัยนี้จะมีตู้ใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจตั้งอยู่เพื่อรองรับเหตุฉุกเฉิน เรามาทำความรู้จักกับอุปกรณ์ชิ้นนี้กันดีกว่าว่าทำไมแต่ละองค์กร แต่ละสถานที่ ควรป้องกันความเสี่ยงด้วยการติดตั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจบ้าง
ขอบคุณรูปภาพจาก alco-tec.co.th
เครื่องกระตุ้นหัวใจคืออะไร
เครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) คือเครื่องมือชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กระดับพกพาได้ ใช้ในการวินิจฉัยและกู้ชีพฉุกเฉินในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจหยุดเต้น โดยใช้กระแสไฟฟ้า ช่วยให้หัวใจกลับมาเต้นในตำแหน่งที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยก็สามารถบรรเทาความร้ายแรงได้ก่อนที่หน่วยกู้ชีพจะเดินทางมาถึง
หลักการทำงานของเครื่อง AED
หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น ให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นช่วยใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งอาจถูกจัดวางอยู่ในตู้สำหรับเก็บเครื่อง AED โดยเฉพาะ ติดตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ของสถานที่ โดยนำแผ่นนำไฟฟ้ามาติดที่หน้าอกของผู้ป่วย เพื่อให้เครื่องทำหน้าที่วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ จากนั้นเครื่องจะส่งสัญญาณให้ทำตามขั้นตอนต่อไปหลังจากรู้ว่าขณะนั้นหัวใจแค่เต้นผิดจังหวะหรือหยุดเต้นฉับพลัน แต่มีข้อควรระวังคือ ขณะเครื่องทำงาน ห้ามผู้คนรอบข้างสัมผัสตัวผู้ป่วย เพราะอาจส่งผลกับการวินิจฉัยได้
ประโยชน์ของการใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ
-
สามารถวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงชีวิตได้โดยอัตโนมัติ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญมาใช้เครื่อง
-
ช็อกไฟฟ้ากระตุกหัวใจเพื่อช่วยชีวิตในนาทีฉุกเฉินได้โดยไม่ต้องรอให้แพทย์หรือผู้มีความรู้มาถึง ซึ่งอาจสายเกินแก้
-
การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจเป็นการเพิ่มทางรอดให้ผู้ป่วยก่อนถึงมือแพทย์ เพราะภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือเต้นผิดจังหวะอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ฉับพลัน