คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เผยความคืบหน้าโครงการในไปป์ไลน์ แย้มเม็ดเงินโครงการลงทุนร่วมปี’64 อู้ฟู่ 3.73 แสนล้านบาท ยืนยันโควิด-19 ไม่กระทบการก่อสร้าง
วันที่ 29 ธ.ค.63 นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (คณะกรรมการ PPP) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ PPP ครั้งที่ 4/2563 โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีผลการประชุมสรุปได้ดังนี้
1. คณะกรรมการ PPP มอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัด หน่วยงานเจ้าของโครงการ และ สคร. ทำหน้าที่เร่งรัดโครงการที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน (High Priority PPP Project) ภายใต้แผนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 – 2570 ให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาและแล้วเสร็จตามกำหนด
ซึ่งนอกจากโครงการคมนาคมในด้านต่างๆ ทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำแล้ว ยังรวมไปถึงโครงการในด้านสาธารณสุขด้วย เพื่อกระตุ้นการลงทุนของประเทศในภาพรวม และให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ตลอดจนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะต่างๆ ของรัฐ
2. คณะกรรมการ PPP ยังได้วินิจฉัยกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ตามมาตรา 20 (9) ตามที่มีหน่วยงานหารือในกรณีปัญหาข้อกฎหมายตาม พ.ร.บ. การร่วมลงทุนฯ ปี 2562 ของการประปาส่วนภูมิภาค บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าของโครงการร่วมทุน ทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างคัดเลือก โครงการใหม่ และโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2564 ประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจากโครงการ PPP ไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 3.73 แสนล้านบาท โดยโครงการที่มีความคืบหน้า เช่น ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เส้นทางระหว่างบางปะอิน-โคราช รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีส้ม ฯลฯ
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลต่อการก่อสร้างโครงการเหล่านี้ เช่นเดียวกับช่วงเดือน เม.ย.ที่มีการประกาศล็อกดาวน์ โครงการ PPP ต่างๆ ก็ยังมีการดำเนินงานต่อเนื่อง เพียงแต่ต้องเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข”