นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่าในขณะนี้กระแสข่าวออนไลน์เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ “ไวรัสโคโรนา” มีทั้งข้อมูลจริงและเท็จ ซึ่งอาจสร้างความสับสนและผิดพลาดได้ ดังนั้นหอการค้าไทยขอให้รัฐบาลพิจารณากำหนดหน่วยงานในการเป็นศูนย์กลางที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องได้ อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นในมาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากล
พร้อมทั้งขอภาครัฐจัดสรรอุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ เช่น ชุด kit set ที่ประกอบไปด้วย หน้ากาก กระดาษทิชชูแบบพกพก และเจลล้างมือ โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เช่น เด็กอนุบาล หรือผู้สูงอายุในชุมชนแออัด รวมทั้ง ผู้โดยสารในสถานีขนส่งมวลชนทางบกและทางน้ำ นอกจากนั้น ขอเสนอให้มีการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในรถบริการสาธารณะ เช่น รถประจำทางหรือรถแท็กซี่ที่มารับผู้โดยสารในสนามบิน เป็นต้น
นอกจากนี้หอการค้าไทยยัง เรียกร้องให้สำหรับสถานพยาบาล คลินิก โรงพยาบาล หน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นสถานที่ดูแลป้องกันรักษาผู้ป่วย เพิ่มความระมัดระวัง และมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มงวด โดยอาจจะเพิ่มจุดคัดกรองพิเศษเพื่อตรวจสอบผู้ที่สงสัยว่าอาจจะติดเชื้อ
ทั้งนี้ หอการค้าไทยสนับสนุนแนวทางของสถานประกอบการประเภทโรงแรมในหลายจังหวัด ที่มีมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาพัก ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้มาใช้บริการอีกด้วย หรือในกรณีที่มีนักท่องเที่ยวมาพักเป็นกลุ่มใหญ่ ก็อาจจะแจ้งหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือให้มีหน่วยเคลื่อนที่มาตรวจสอบคัดกรอง
นายกลินท์ ยอมรับว่า จากปัญหาการระบาดของ “ไวรัสโคโรน่า” ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก ส่วนจะส่งผลต่อประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) หรือไม่นั้นคงต้องมีการประเมินอีกครั้งหนึ่ง และเชื่อว่าการท่องเที่ยงแห่งประเทศไทย (ททท.) จะมีมาตรการออกมา และอยากเชิญชวนให้คนไทยช่วยกันท่องเที่ยวในประเทศไทยก่อน
ในส่วนของปัญหามลพิษทางอากาศจาก “PM 2.5” ซึ่งส่งกระทบโดยตรงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และส่งผลกระทบต่อภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย หอการค้าไทยเสนอแนวทางและมาตรการในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในหลาย ๆ ด้าน อาทิ ด้านการเกษตร ควรส่งเสริมให้มีการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ใบอ้อย ต้นและซังข้าวโพด มาอัดเป็นก้อนแล้วขายให้โรงงานไฟฟ้าชีวมวลในท้องถิ่น รวมถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ พร้อมขยายโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีวัตถุดิบทางการเกษตร เพื่อลดการเผาทิ้ง โดยให้เผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าระบบปิดแทน
พร้อมกันนี้ หอการค้าไทยยังแนะว่าควรมีการจัดทำแผนลดการเผาข้าวและข้าวโพด เหมือนกรณีอ้อย ที่มีแผนการลดการเผาเป็น 0% ในปี 2565 ทั้งนี้ หอการค้าไทยเห็นด้วยกับมาตรการลงโทษของภาครัฐ สำหรับเกษตรกรที่มีการเผาพื้นที่ไร่นา เช่น งดให้เงินช่วยเหลือจากภาครัฐสำหรับเกษตรกร