การระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ของสหรัฐกับไทย จะมีผลบังคับใช้ในวันนี้ 25 เมษายน 2563 ซึ่งกระทบกับสินค้า 573 รายการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในรายการสินค้าดังกล่าวจะต้องเสียภาษีเพิ่ม 4-5% คิดเป็นยอดเสียภาษีรวมประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าการตัดสิทธิ์ GSP แม้ไม่กระทบต่อภาพรวมของไทย เนื่องจากสินค้ากลุ่มดังกล่าวคิดเป็น 1 ใน 3 ของสินค้าที่ใช้สิทธิ GSP ของสหรัฐฯ และเป็นเพียงสัดส่วนร้อยละ 4.1 ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ แต่การตัดสิทธิ์ทำให้ราคาสินค้าไทยแพงขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและโดยเฉพาะสินค้าอาหารที่พึ่งพาสิทธิในการทำตลาด จะส่งผลให้สินค้าไทยทำตลาดในสหรัฐฯ ได้ยากขึ้น ในภาวะที่กำลังซื้อของสหรัฐฯ ลดลงอย่างมาก
ปัจจุบันสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ ราวร้อยละ 60 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นกลุ่มสินค้ากึ่งสำเร็จรูปและสินค้าสำเร็จรูปที่ล้วนเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
ด้วยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของสหรัฐฯ ที่ซบเซาอย่างมาก ทำให้สินค้ากลุ่มนี้แทบจะไม่มีโอกาสทำตลาดได้เลยในช่วงที่เหลือของปี จากที่ในช่วงไตรมาส 1/2563 ที่การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้หดตัวร้อยละ 12.8 (YoY) อาทิ ยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์สำหรับการเดินทาง ส่วนประกอบเครื่องจักร อีกทั้ง สินค้าฟุ่มเฟือยบางรายการก็ถูกตัดสิทธิ GSP ในรอบนี้ด้วย
แม้ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไม่สูงแต่ก็ทำให้สินค้าไทยสูญเสียโอกาสทำตลาดมากขึ้นไปอีก อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เซรามิก ยางล้อ มอเตอร์ไซด์ รองเท้า กระเป๋าสาน ดอกไม้ประดิษฐ์ อุปกรณ์กีฬา
นอกจากนี้ สินค้ากลุ่มอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค ก็ต้องเผชิญแรงกดดันทั้งกำลังซื้อของชาวอเมริกันที่ลดลง และธุรกิจที่เป็นปลายทางนำเข้าอาหารไทยก็ประสบวิกฤตไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารไทย โรงแรม และการท่องเที่ยว
ประกอบกับในปัจจุบันการส่งออกสินค้าอาหารไปสหรัฐฯ ราวร้อยละ 25 พึ่งพา GSP เป็นตัวช่วยในการทำตลาดสหรัฐฯ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวกำลังจะถูกตัดสิทธิไปถึง 1 ใน 3 โดยเฉพาะอาหารทะเลสด/แปรรูป ผักและผลไม้แปรรูป
สถานการณ์ดังกล่าวนี้ไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มนี้จากปัจจุบันขยายตัวที่ร้อยละ 12.7 (YoY) แม้จะมีสัดส่วนเพียงการส่งออกร้อยละ 10 ของการส่งออกไปสหรัฐฯ โดยสินค้าส่งออกสำคัญอื่นๆ ได้แก่ ข้าว ผักและผลไม้แปรรูป อาหารแปรรูป อาหารสัตว์เลี้ยง
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ยังไปได้ดีประกอบด้วยสินค้าที่ตอบสนองกิจกรรมทำงานจากบ้าน (Work From Home) ในกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ประกอบกับอานิสงส์ของสงครามการค้า ทำให้สินค้าไทยเข้าไปแทนที่สินค้าจีนได้จนมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออก HDDs
ทั้งนี้ เครื่องปรับอากาศและคอมเพรสเซอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโรงพยาบาลสนาม และการจัดทำห้องความดันลบ ที่เป็นที่ต้องการอย่างมาก ไทยก็มีศักยภาพในการผลิตและไทยยังได้สิทธิ GSP จึงน่าจะทำตลาดได้ต่อเนื่องในขณะนี้ขยายตัวที่ร้อยละ 85.4
การตัดสิทธิ์ GSP สินค้าไทยของสหรัฐ ที่มาประจวบเหมาะกับ การหยุดชะงักของเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อไปอย่างมากในการเข้าทำตลาดในสหรัฐฯ ทั้งราคาที่แพงขึ้นและการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังของชาวอเมริกัน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจากวิกฤติโควิด-19 ขะทำให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 28,467 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวที่ร้อยละ 9.2 เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี นับจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจทางการเงินของสหรัฐฯ ที่ทำให้การส่งออกของไทยในปี 2552 หดตัวแรงถึงร้อยละ 17.8
หากตลาดสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้เร็วด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากนี้มีโอกาสที่การส่งออกของไทยจะหดตัวน้อยลงมาอยู่ที่หดตัวร้อยละ 7.3 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 29,000 ล้านดอลลาร์ฯ แต่ถ้าหากสหรัฐฯ ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ในช่วงครึ่งปีแรก คงทำให้การส่งออกของไทยหดตัวลึกลงไปที่ร้อยละ 12.8 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 27,325 ล้านดอลลาร์ฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าหลังจากนี้การรักษาตลาดสหรัฐฯ อาจต้องแข่งขันดึงดูดการลงทุนให้คงอยู่ในประเทศเพื่อให้สามารถต่อยอดการผลิตและส่งออกได้ต่อไป นอกจากนี้การหาตลาดใหม่ก็เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทำตลาดของสินค้าไทยไปยังพื้นที่อื่น และช่วยกระจายความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดคิด